ทำความรู้จักกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Pacific Alliance

ทำความรู้จักกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Pacific Alliance

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 5,829 view

ทำความรู้จักกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ Pacific Alliance


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก
(
www.thaiembassychile.org หรืออีเมล์ [email protected])


            การบูรณาการทางเศรษฐกิจภายใต้กรอบ Pacific Alliance เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 โดยมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมการบูรณาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศสมาชิก และมุ่งเน้นการส่งเสริมการค้าการลงทุนกับประเทศในเอเชีย ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกก่อตั้งได้แก่ ชิลี โคลอมเบีย เปรูและเม็กซิโก ขณะที่ปานามาและคอสตาริกาอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โดยต่างก็สนใจเข้าเป็นสมาชิก Pacific Alliance อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขพื้นฐานของกลุ่ม Pacific Alliance ซึ่งก็คือการมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศสมาชิกในกลุ่ม

             ขณะนี้ชิลีดำรงตำแหน่งประธานชั่วคราวของ Pacific Alliance และจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำของชาติสมาชิกในเดือนมิถุนายนนี้ โดยจะใช้โอกาสดังกล่าวร่วมกันลงนามในสนธิสัญญาก่อตั้งกลุ่ม Pacific Alliance อย่างเป็นทางการ สนธิสัญญาฉบับนี้จะให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีทางการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานและทุนระหว่างประเทศสมาชิก โดยอาศัยมาตรการต่างๆ อาทิ การลดภาษีอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนสามารถยกเลิกภาษีระหว่างกันได้ภายในปีพ.ศ. 2563 2568 (ค.ศ. 2020 - 2025)การกำหนดกรอบเวลาสำหรับการยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีและกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อลดขั้นตอนในการเคลื่อนย้ายสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งมีการจัดตั้งตลาดหุ้น สำนักงานการค้าในต่างประเทศ และสภาธุรกิจ Pacific Alliance ร่วมกันอีกด้วย

             นายริการ์โด มาร์ติเนลลี ประธานาธิบดีปานามาแถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ปานามามีความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิกการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ Pacific Alliance เนื่องจากมีที่ตั้ง ระบบเศรษฐกิจและรูปแบบการพัฒนาประเทศสอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกันกับประเทศสมาชิกอยู่แล้ว จึงถือได้ว่าปานามาเป็นพันธมิตรและต้องการเข้าเป็นสมาชิกถาวรของ องค์กร ปัจจุบัน ปานามามีความตกลงการค้ากับชิลี ซึ่งมีผลบังคับใช้มาแล้วตั้งแต่ปี 2551 มีความตกลงการค้ากับเปรู ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนเมษายนปีนี้ ส่วนความตกลงการค้ากับเม็กซิโกและโคลอมเบียยังอยู่ระหว่างการเจรจา

             ด้านนางเลารา ชินชียา ประธานาธิบดีคอสตาริกากล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์ในกลุ่มดังกล่าว มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคอสตาริกา เนื่องจากเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมระบบตลาดเปิดให้กับประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับชาวคอสตาริกา นอกจากนี้ ยังทำให้คอสตาริกาได้เป็นส่วนหนึ่งของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในภูมิภาค ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดของภูมิภาคถึง 5 ประเทศด้วยกัน ทั้งนี้ คอสตาริกามีความตกลงการค้าที่มีผลบังคับใช้แล้วกับเม็กซิโก ปานามา และชิลี ส่วนความตกลงการค้ากับเปรูยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติของคอสตาริกา

             ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าในภูมิภาคลาตินอเมริกาให้ความเห็นว่า การรวมกลุ่มดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญในภูมิภาคลาตินอเมริกา และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาได้เกินหน้ากลุ่มตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR) ซึ่งมีบราซิล อาร์เจนตินา ปารากวัยและอุรุกวัยเป็นประเทศสมาชิก ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการบูรณาการที่มุ่งขยายความสัมพันธ์กับเอเชียแปซิฟิก ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นดังกล่าวโดยตรง ดังนั้น จึงเป็นการดีถ้าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยจะทำความรู้จักและติดตามอย่างใกล้ชิด  เกี่ยวกับพัฒนาการของการบูรณาการภายใต้กรอบดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย


ที่มา: http://www.americaeconomia.com ประจำวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 2012
และ
http://spanish.china.org.cn ประจำวันที่ 6 มีนาคม ค.ศ. 2012