เจาะลึกสถานการณ์แรงงานในโอมาน

เจาะลึกสถานการณ์แรงงานในโอมาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 11,701 view

เจาะลึกสถานการณ์แรงงานในโอมาน


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
(อีเมล์
[email protected] )

 

             โอมาน ได้ชื่อว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มุ่งผลักดันระบบสาธารณูปโภคให้ได้รับการพัฒนาอย่าง โอมานจึงเต็มไปด้วยโครงการก่อสร้างต่างๆ มากมายและจำเป็นต้องอาศัยแรงงานที่มีฝีมือเฉพาะด้านจากต่างประเทศจำนวนมาก โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำมัน ธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ นอกจากนี้ การขยายเส้นทางการบินของ Oman Air ยังนับเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสของแรงงานต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในโอมานอีกด้วย

             แม้รัฐบาลโอมานกำลังผลักดันนโยบาย Omanisation ซึ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่สนับสนุนการจ้างงานชาวโอมานเพื่อส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของคนโอมานและขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจแต่ละสาขาจะต้องจ้างแรงงานชาวโอมานในอัตราส่วนต่อจำนวนลูกจ้างทั้งหมดตามที่กระทรวงแรงงานโอมานกำหนด ซึ่งอัตราส่วนอาจมีความแตกต่างในแต่ละสาขาอาชีพ และหากผู้ประกอบการฝ่าฝืนก็จะต้องรับโทษปรับและจำคุก รวมทั้งมีโอกาสถูกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการธุรกิจ แต่ขณะเดียวกัน ความต้องการแรงงานต่างชาติก็ยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างและภาคบริการ ซึ่งเป็นอาชีพที่ชาวโอมานไม่นิยม

             กระทรวงเศรษฐกิจแห่งชาติโอมาน เปิดเผยสถิติล่าสุด (พฤศจิกายน 2554) ว่า ปัจจุบันมีแรงงานในธุรกิจภาคเอกชนของโอมานทั้งหมด 1,263,412 คน แบ่งเป็นแรงงานชาวโอมาน 173,242 คน (ร้อยละ 13.71) และแรงงานชาวต่างชาติ 1,090,170 คน (ร้อยละ 86.29) โดยแรงงานต่างชาติในโอมานส่วนใหญ่มาจากประเทศในเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังคลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา นอกจากนั้น ยังมีชาวตะวันตกและเอเชียจำนวนหนึ่ง เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไทย ฯลฯ  ที่เข้ามาทำงานในโครงการพัฒนาต่างๆ ในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นแรงงานประเภทเชี่ยวชาญ มีฝีมือและกึ่งมีฝีมือ

             สำหรับแรงงานไทยในโอมาน ปัจจุบันนี้มีประมาณ 500 คน แบ่งเป็น พนักงานบริษัท อาทิ บริษัท ปตท.สผ. บริษัทการบินไทย บริษัท TRC (บริษัทวางท่อก๊าซ) บริษัท Petroleum Development Oman (PDO) บริษัท Oman Air ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น และพนักงานภาคบริการ เช่น พนักงานโรงแรม ร้านเสริมสวย สปา และพ่อครัว อย่างไรก็ตาม มีแรงงานผิดกฎหมายจำนวนหนึ่งซึ่งเดินทางเข้าโอมานด้วยวีซ่านักท่องเที่ยวและลักลอบทำงาน โดยส่วนใหญ่จะทำงานในภาคบริการต่างๆ อาทิ พนักงานต้อนรับ และพนักงานนวดในสปา

             หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญที่แรงงานไทยมักประสบคือกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างตามที่ตกลงหรือจ่ายล่าช้ามาก แต่หากแรงงานต่างชาติที่มีเอกสารอนุญาตการทำงานและมีสัญญาว่าจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็สามารถนำปัญหาดังกล่าวร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงานโอมาน นอกจากนี้ แรงงานไทยหลายคนยังถูกนายจ้างเรียกร้องค่าเสียหาย เนื่องจากแรงงานไทยเหล่านั้นต้องการยกเลิกสัญญาว่าจ้างก่อนครบกำหนด ซึ่งสัญญาว่าจ้างในโอมานส่วนมากมีระยะเวลา 2 ปี แต่แรงงานไทยบางส่วนทำงานได้เพียง 2 3 เดือนก็แสดงความประสงค์ที่จะลาออกจากงานหรือเดินทางกลับประเทศ เนื่องจากสาเหตุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างหรือประเภทของงานที่ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ สภาพอากาศที่ร้อนจัด และอุปสรรคทางด้านภาษา ฯลฯ

             ดังนั้น เพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต จึงแนะนำว่า แรงงานไทยที่ต้องการเดินทางมาทำงานในโอมานแต่ไม่มั่นใจว่าจะสามารถทำงานครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้างได้หรือไม่ ควรตกลงกับนายจ้างให้ชัดเจนว่าประสงค์จะมีระยะเวลาทดลองงาน 2 3 เดือน หรือตามดุลพินิจของลูกจ้าง และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ลูกจ้างสามารถพิจารณาไม่ต่อสัญญาและเดินทางกลับประเทศได้

             นอกจากนี้ แรงงานไทยที่จะมาทำงานในโอมานและตะวันออกกลาง ควรเตรียมพร้อมศึกษาหาข้อมูลทั้งด้านสภาพอากาศ ธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ และวัฒนธรรมการทำงานของโอมานก่อนที่จะเดินทางมาทำงาน เพื่อให้ปรับตัวกับสภาพอากาศและวัฒนธรรมที่แตกต่างจากไทย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แรงงานไทยหลายคนไม่ปฏิบัติตามสัญญาและเดินทางกลับประเทศก่อนครบกำหนดตามสัญญาว่าจ้าง

             สิ่งสำคัญอีกประการที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ แรงงานไทยควรศึกษาสัญญาว่าจ้างอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องอัตราค่าจ้าง ซึ่งรวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลเงินบาท ดอลลาร์สหรัฐ และริยาลโอมาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเข้าใจผิดระหว่างลูกจ้างและนายจ้างเกี่ยวกับอัตราค่าจ้าง ทั้งนี้ ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานก่อนเดินทางหรือทำสัญญาด้วย รวมทั้งติดต่อ สถานเอกอัครราชทูตฯ เมื่อเดินทางไปถึงโอมาน เพื่อรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รับฟังคำแนะนำในการใช้ชีวิตในโอมาน และเพื่อให้สถานเอกอัครราชทูตฯ ทราบช่องทางการติดต่อแรงงานไทยในกรณีเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย