จับกระแส สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในกลุ่ม GCC

จับกระแส สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในกลุ่ม GCC

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,808 view

จับกระแส สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารในกลุ่ม GCC

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต
อีเมล์
[email protected]

 

(ภาพจาก www.google.com)



             เป็นที่ทราบกันดีว่า กลุ่มคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC) เป็นการรวมตัวของประเทศที่นอกจากจะเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดของโลกอย่างน้ำมันแล้ว ยังมีศักยภาพด้านเศรษฐกิจและเป็นตลาดที่สำคัญของโลก เนื่องจากมีประชากรกว่า 37 ล้านคนแถม ผู้บริโภคยังมีกำลังซื้อสูงอีกด้วย

             แต่ท่านทราบไหมว่า ? โดยที่ภูมิประเทศของกลุ่มประเทศเหล่านี้ เป็นทะเลทรายที่แห้งแล้ว ยากต่อการเพาะปลูก ต้องนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศนอกกลุ่ม รวมทั้งไทย สถานการณ์ด้านอาหารของกลุ่ม GCC จึงเป็นที่จับตามองของประเทศสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าอาหาร สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมัสกัต จึงส่งตรงข้อมูลสถานการณ์มั่นคงด้านอาหาร (Food Security) จัดทำโดยหน่วยงาน Economic Intelligence Unit (EIU) มาฝากท่านผู้อ่านกัน ดังนี้

             เป็นที่คาดการณ์ว่า ภายในระยะเวลา 10 ปี กลุ่มประเทศ GCC มีแนวโน้มการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของประชากรในภูมิภาคและรายได้เฉลี่ยต่อหัว การขยายตัวของชุมชนเมือง โดยคาดว่า ปริมาณการนำเข้าอาหารของ GCC ในปี 2563 จะมีมูลค่า 53.1พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 105 จากมูลค่าการนำเข้าอาหารในปี 2553 (25.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ )

             ขณะที่ โอมานมีปริมาณการนำเข้าอาหารเพื่อบริโภคภายในประเทศในปี 2563 มีแนวโน้มที่จะมีมูลค่าสูงถึง 4.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 128 จากมูลค่าการนำเข้าอาหารในปี 2553 (2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากโอมานมีพื้นที่สำหรับการเกษตรเพียงร้อยละ 0.1 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด และต้องนำเข้าอาหารร้อยละ 80 ของปริมาณอาหารที่บริโภคในประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์

             นาย Mohamed Jalal Al Reyaysa โฆษก Abu Dhabi Food Control Authority ได้ให้ความเห็นว่า ความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องที่รัฐบาลของประเทศต่างๆในกลุ่มประเทศ GCC ต้องให้ความสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการประกอบธุรกิจการนำเข้าอาหารในภูมิภาค ทั้งนี้ กลุ่ม ประเทศ GCC นำเข้าอาหารร้อยละ 90 ของปริมาณอาหารที่บริโภคทั้งหมดในแต่ละปี เนื่องจากมีพื้นที่สำหรับการเกษตรเพียงร้อยละ 1.4 ของพื้นที่ทั้งหมดและมีภูมิประเทศที่ขาดแคลนน้ำจืดหากจะดูตัวเลข การส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทยไปยังกลุ่มประเทศ GCC พบว่า ในปี 2553 มีมูลค่าเพียง 257.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าสูงถึง 5,676.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

             ดังนั้น ความต้องการนำเข้าอาหารของกลุ่มประเทศ GCC ที่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่จะศึกษาตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลางเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรกรรม เนื่องจากปริมาณการส่งออกของไทยในภูมิภาคนี้ยังน้อย ขณะที่ตลาดยังมีทิศทางและแนวโน้มที่จะเติบโตได้อีกมาก