เจาะประเด็นทิศทางเศรษฐกิจดูไบ

เจาะประเด็นทิศทางเศรษฐกิจดูไบ

วันที่นำเข้าข้อมูล 22 พ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 8,594 view

เจาะประเด็นทิศทางเศรษฐกิจดูไบ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ
อีเมล์ [email protected]

 

ภาพจาก www.google.com


             หลายท่านคงรู้จักดูไบ เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันเป็นอย่างดี ดูไบนอกจากจะเป็นเมืองมหัศจรรย์ที่แปรเปลี่ยนจากผืนทะเลทรายมาสู่ความมั่งคั่งมหาศาลด้านการค้าและบริการ นอกเหนือจากการค้าน้ำมันแบบเดิมๆ ซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศแล้ว ยังกลายเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของโลก พิสูจน์ได้จากตึกสูงระฟ้าที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วเมือง ส่งผลให้เมืองดูไบแห่งนี้เป็นเมืองที่น่าสนใจ ด้วยอัตราการเติบโตของจีดีพีสูงที่สุดในโลกเลยทีเดียว  

             สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ จึงได้ ประมวลสาระจากการสัมมนาในหัวข้อ Dubai Trade Opportunities in World Market และ Prospects of Economic Synergies between Morocco, Jordan and the GCC จัดโดยสภาหอการค้าดูไบ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2554 มาฝากท่านผู้อ่านให้รู้และเข้าใจตลาดดูไบมากยิ่งขึ้น ผู้บรรยายสำคัญของงานนี้ คือ นาย Fahd Shah และนาย Ikaraam Ullah ได้กล่าวถึง การเจริญเติบโตด้านเศรษฐกิจดูไบ โดยระบุถึงตัวเลขส่งออกของดูไบในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ว่าอยู่ที่ร้อยละ 18.4 หรือมูลค่า 184.2 พันล้านดีแรมห์ (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2554:1 ดีแรมห์เท่ากับ 8.39 บาท) มากกว่าตัวเลขการส่งออกของช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คือ 155.6 พันล้านดีแรมห์ อย่างไรก็ตาม สภาหอการค้าฯ ตระหนักดีถึงสภาวะตลาดโลก โดยเฉพาะวิกฤตทางการเงินในทวีปยุโรปจึงเล็งเห็นความจำเป็นในตลาดใหม่ๆ และดึงดูดนักลงทุนหลายสาขาให้มาลงทุนในดูไบให้มากยิ่งขึ้น

            หากวิเคราะห์เจาะลึกถึงตลาดสินค้าของดูไบ จะพบว่า สินค้าส่งออกหลักๆ ของดูไบ ได้แก่ อัญมนีและหินแร่ น้ำตาลและลูกกวาด สิ่งพิมพ์ เครื่องเซรามิกส์ และโกโก้ ขณะที่สินค้านำเข้าเพื่อนำมาผลิตและส่งออกต่อ ได้แก่ อัญมณีและแร่หิน ไส้หลอด (man-made Filament) ผลไม้และถั่ว และเส้นใยหลัก โดยมีตลาดรองรับขนาดใหญ่ อย่างอินเดีย อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง กาตาร์ ปากีสถาน อียิปต์ และบาห์เรน ดังนั้น การขยายตัวของตลาดส่งออกของดูไบจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน ดูไบเองก็กำลังประสบปัญหาการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะการประสบปัญหากฎระเบียบของการโอนเงินการค้า การขาดแคลนท่าเรือและความสะดวกด้านคมนาคมในประเทศคู่ค้า เป็นต้น โดยปัญหาต่างๆ ข้างต้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการจัดทำข้อตกลงด้านการค้าระหว่างกัน และการผลักดันให้มีตลาดใหม่ๆเกิดขึ้น โดยเฉพาะในประเทศ กลุ่ม MENA (Middle East and North Africa) โดยผู้บรรยายให้ความเห็นว่า ภาครัฐควรลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจและรวมถึงการอำนวยความสะดวกเรื่องความคล่องตัวด้านการเงินด้วย ตลอดจนเริ่มทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศเป้าหมายอื่นๆ ในลาตินอเมริกา เอเชียใต้ และแอฟริกา เป็นต้น

           นอกจากนี้ ในการสัมมนายังชี้ให้เห็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการเข้าเป็นสมาชิกประเทศกลุ่ม GCC ของโมรอกโกและจอร์แดน ว่าจะเอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้ประเทศกลุ่ม GCC เป็นอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นการเปิดโอกาสทางด้านแรงงาน การค้า การลงทุน และด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลาย รวมทั้งการขยายภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ  นอกเหนือจากการค้าน้ำมันดิบของประเทศสมาชิกและด้านการประหยัดพลังงาน ในขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของโมร็อคโกและจอร์แดน ซึ่งมีจุดแข็งเรื่องปริมาณประชากรแรงงาน ที่มีมากกว่า 12 ล้านคน ดังนั้น หากประเทศกลุ่ม GCC มีนโยบายให้ แรงงานเหล่านี้สามารถเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศต่าง ๆ ใน GCC ได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย นอกจากนี้ โมรอกโกยังมีจุดแข็งด้านที่ตั้ง และ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคยุโรป ในขณะที่จอร์แดนมีจุดแข็งด้านการบริการด้านความรู้ด้านอุตสาหกรรมและความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นช่องทางขยายโอกาสและผลักดันการเติบโตด้านเศรษฐกิจของภูมิภาคตะวันออกกลาง