รวันดาเริ่มฟื้น แผนลดความยากจนเริ่มได้ผล

รวันดาเริ่มฟื้น แผนลดความยากจนเริ่มได้ผล

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,686 view

รวันดาเริ่มฟื้น แผนลดความยากจนเริ่มได้ผล


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไนโรบี
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ [email protected]
 

            รวันดาเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดอันดับประเทศยากจนของโลก ภายหลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาเมื่อปี ค.ศ. 1994 ประชากรของรวันดาต้องประสบกับความยากลำบากอย่างมาก โดยประชากรร้อยละ ๗๐ อยู่ใต้เส้นวัดความยากจน (poverty line) แต่รัฐบาลรวันดาก็ได้ริเริ่มโครงการ Girinka เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชากร โดยโครงการนี้ระบุถึงแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ดังเช่น การโภชนาการ การสร้างรายได้ และการเพิ่มความสามารถในการผลิตด้านการเกษตร

           นอกจากโครงการ Girinka แล้ว รัฐบาลยังริเริ่มโครงการ Imhigo ที่มุ่งเน้นแผนการพัฒนาระดับรากหญ้า โดยใช้ความคิดริเริ่มง่ายๆจากระดับครัวเรือน (simple household-led initiatives) รวมถึงการจัดตั้งสวนครัว/โภชนาการ (nutritional garden) ต่อหลังคาเรือน และแผนงานขนาดใหญ่ เช่น การจัดตั้งโรงเรียน

           ผลจากการดำเนินโครงการลดความยากจนของรัฐบาลนั้น กระทรวงการคลังของรวันดาระบุว่า สามารถลดความยากจนได้ร้อยละ ๑๒ ถึงร้อยละ ๔๔,๙ ระหว่างช่วงปี ๒๐๐๕ – ๒๐๑๐ ทำให้ประชาชนกว่า ๑ ล้านคน หรือร้อยละ ๑๐ สามารถขึ้นมาอยู่เหนือเส้นวัดความยากจนได้

           เนื่องจากภาคการเกษตรเป็นแหล่งที่มาหลักของการจ้างงานในรวันดา รัฐบาลจึงเน้นการเพิ่มความสามารถในการผลิตด้านการเกษตร โดยได้จัดสรรงบประมาณให้แก่ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๔.๒ เป็นร้อยละ ๖.๖ ในระยะเวลา ๒ ปี นอกจากนี้รัฐบาลยังปฏิบัติตามข้อผูกพันภายใต้แผนงานการพัฒนาการเกษตรแอฟริกาอย่างสมบูรณ์ของสหภาพแอฟริกา (Comprehensive African Agriculture Development Programme-CAADP) ที่กำหนดให้รัฐสมาชิกนำงบประมาณร้อยละ ๑๐ ไปใช้ลงทุนด้านการเกษตรกรรม ทำให้ภาคการเกษตรของรวันดาเจริญเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ ๔.๙ ต่อปีในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา นับเป็นสัดส่วนร้อยละ ๓๖ ของ GDP ทั้งนี้ แรงงานภาคการเกษตรคิดเป็นร้อยละ ๗๙.๕ ของแรงงานทั้งประเทศ โดยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ถึงร้อยละ ๔๕

           จากการลงทุนในภาคการเกษตรนี้ ทำให้ความมั่นคงทางด้านอาหารของรวันดาเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศได้กว่าร้อยละ ๙๐ อย่างไรก็ดี รวันดายังคงประสบกับความท้าทายที่สำคัญอย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนอยู่ในระดับสูงสุดในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก

           มหาวิทยาลัย Oxford ระบุผลวิจัยในรายงาน Poverty and Human Development Initiative ว่า รวันดา เนปาล และบังกลาเทศ เป็นประเทศที่มีผลงานโดดเด่นในการขจัดความยากจนอย่างรุนแรงในระยะเวลา ๒๐ ปี โดยสามารถปรับปรุงตัวได้รวดเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศตัวอย่าง