ข้อมูลดี ๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างในเมืองมะกัน

ข้อมูลดี ๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างในเมืองมะกัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 18,285 view

ข้อมูลดี ๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าสู่ระบบจัดซื้อจัดจ้างในเมืองมะกัน

จาก สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน
(
http://www.thaiembdc.org/ หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected],
[email protected] )
 

             สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตันฝากประชาสัมพันธ์ข้อมูลและเว็บไซต์ดีๆ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะประกอบการค้ากับภาครัฐของสหรัฐฯ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการรายใหญ่ที่สุดในโลกมาฝากกัน ! 
             ตามที่ไทยได้จัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินเดีย จีน นิวซีแลนด์ และกำลังมีการเจรจากับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เปรู และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป ซึ่งในการเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ นั้น ได้มีการแยกกลุ่มการเจรจาออกเป็น 23 กลุ่ม ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้าง (Government Procurement) ก็เป็นหัวข้อหนึ่งของการเจรจาด้วย ในการนี้ จึงขอนำเสนอภาพรวมระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนไทยที่ต้องการจะเข้าสู่ระบบการจัดซื้อ จัดจ้างของหน่วยงานต่างๆ ในรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ดังนี้
ภาพรวมของระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ
            1. หน่วยงานราชการต่างๆ ภายใต้รัฐบาลกลาง (Federal Government) จะต้องจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้าว่าในปีงบประมาณนี้จะจัดซื้อจัดจ้างสินค้าประเภทใดบ้าง และจะใช้วิธีใดในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้วิธีการสำรวจตลาด (market research) เพื่อจะได้รู้ว่าสินค้าที่หน่วยงานต้องการนั้นมีวางขายอยู่ในตลาดหรือไม่ หรือมีจำนวนมากน้อยเพียงใด
            2. ภาคเอกชน เช่น บริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางจะต้องมาลงทะเบียน (Supplier Registration) เพื่อขอรับ PIN Number และ DUNS Number ในระบบ Central Contractor Registration (CCR) System ซึ่งบริษัทสามารถลงทะเบียน online ได้ทาง website http://www.ccr.gov
                - PIN Number จะใช้กรณีเป็นการลงทะเบียนครั้งแรก ซึ่งทุกบริษัทจะต้องทำการปรับปรุงข้อมูลของตนในระบบ CCR อยู่เสมอ
                - DUNS Number คือ หมายเลขประจำตัวบริษัทจำนวน 9 หลักที่ใช้เพื่อแสดงฐานะทางการเงินของบริษัท
            3. หน่วยงานต่างๆ ภายใต้รัฐบาลกลางจะต้องประกาศคาดการณ์การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับแต่ละการจัดซื้อจัดจ้างล่วงหน้า 15 วันก่อนการประกาศจริง (Notice of Intended Procurement) ใน website ของ Federal Business Opportunities (FedBizOps) ที่ http://www.fedbizopps.gov ซึ่งในประกาศดังกล่าวจะประกอบด้วยข้อมูลดังต่อไปนี้
- รายชื่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (contact point/ contracting officer)
- คำอธิบายวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง
- ระยะเวลาการเปิดและปิดการจัดซื้อจัดจ้าง
- สถานที่ติดต่อ
- ปริมาณการจัดซื้อจัดจ้าง
- กำหนดการจัดส่งสินค้า
- ระยะเวลาของสัญญา (Duration of contract period

            4. การออกเอกสารการประมูล (Solicitation) ในเอกสารการประมูลจะต้องมีข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการด้าน
เทคนิค (Technical Requirement) ของการจัดซื้อจัดจ้างที่หน่วยงานต้องการรวมทั้งวิธีการยื่นข้อเสนอ/ ยื่นซองประมูล (Method of Submission) และวิธีการประเมินข้อเสนอ/การประมูล (Evaluation of Bids) ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ จะต้องระบุเงื่อนเวลาและข้อยกเว้น (หากมี) ในการยื่นข้อเสนอ/ ยื่นซองประมูลให้ชัดเจน พร้อมทั้งจัดสรรเวลาที่เพียงพอและเหมาะสม (อย่างน้อย 30 วัน) เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถมายื่นข้อเสนอ/ ยื่นซองประมูลได้ทัน
            5. General Services Administration Schedules (GSA) เป็นหน่วยงานราชการอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลกลาง ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) โดยการนำเสนอสินค้าและบริการต่างๆ จากพันธมิตรทางธุรกิจ (ผู้ขาย) มีลักษณะคล้ายกับการเป็นตัวกลางระหว่างหน่วยงานราชการ (ผู้ซื้อ) และภาคเอกชน (ผู้ขาย) ซึ่งจะทำให้หน่วยงานราชการมีทางเลือกในการเลือกซื้อสินค้าและบริการมากยิ่งขึ้น กล่าวคือ หน่วยงานราชการสามารถสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่าน GSA website ได้ โดยผู้ขายจะจัดส่งสินค้าไปยังหน่วยงานราชการนั้นๆ โดยตรง ทั้งนี้ ผู้ขาย (supplier) ที่ต้องการลงทะเบียนและทำสัญญากับ GSA สามารถยื่นใบสมัครต่อ GSA ผ่าน website ของ http://www.gsa.gov ซึ่ง GSA จะทำการเลือกสรร และเมื่อผู้ขายแต่ละรายผ่านกระบวนการเลือกสรรแล้ว ผู้ขายจะต้องทำสัญญากับ GSA Schedule Solicitation
            6. กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ
              6.1 การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าต่ำกว่า 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (Micro Purchase) เจ้าหน้าที่จัดซื้อจัดจ้าง (Contracting Officer) ของหน่วยงานราชการแต่ละแห่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการต่างๆ จากผู้ขายได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการเปิดประมูล ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยใช้ purchasing card ซึ่งหน่วยงานราชการแต่ละแห่งจะมอบ purchasing card ให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ถือ
              6.2 การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สงวนให้กับ SMEs สหรัฐฯ เท่านั้น) และการจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ประกอบด้วย 2 วิธี คือ
              - Sealed Bidding หรือ Invitation for Bid (IFB) เป็นการเปิดกว้างให้ภาคเอกชนสามารถยื่นซองประมูล / ยื่นข้อเสนอเพื่อเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ ซึ่งใช้ในกรณีที่หน่วยงานราชการระบุความต้องการในการจัดซื้อ จัดจ้างไว้ชัดเจนและสมบูรณ์แล้ว โดยหน่วยงานราชการจะพิจารณาคัดเลือกโดยใช้ปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก
              - Negotiated Procurements หน่วยงานราชการจะออกประกาศการจัดซื้อจัดจ้าง เรียกว่า Request for Proposal (RFP) ซึ่งใช้ในกรณีที่หน่วยงานราชการต้องการจัดซื้อจัดจ้างสินค้า / บริการที่มีความซับซ้อนทางเทคโนโลยี เช่น การซื้อเครื่องบิน และมีผู้ขายสินค้าชนิดนั้นอยู่ในตลาดเพียงไม่กี่ราย โดยหน่วยงานราชการจะเรียกเจ้าของบริษัทที่ขายสินค้านั้นมาเจรจาต่อรองและพิจารณาคัดเลือกโดยใช้ปัจจัยด้านเทคนิคเป็นหลัก ทั้งนี้ การที่หน่วยงานราชการจะเลือกใช้วิธีใดในการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องทำการสำรวจตลาด (market research) ก่อนว่าสินค้าชนิดนั้นเหมาะจะใช้วิธีใดในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งมีความแตกต่างกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ของไทยที่มิได้กำหนดให้หน่วยงานราชการจะต้องทำการสำรวจตลาดก่อนแต่อย่างใด
            7. วิธีการประเมิน (Evaluation) หน่วยงานราชการสหรัฐฯ จะพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นซองประมูล / ข้อเสนอโดยใช้หลักการ Best Value ร่วมกับ Lowest Price ทั้งนี้ หน่วยงานราชการทุกแห่งจะมีการจัดสรรส่วนแบ่งในการจัดซื้อจัดจ้างให้แก่บริษัท/ธุรกิจขนาดเล็ก (Small Businesses) ตามที่ Small Business Administration (SBA) กำหนด
            8. การ Award Contract เมื่อคัดเลือกผู้ชนะการประมูลได้แล้ว หน่วยงานราชการจะแจ้งให้ผู้ชนะการประมูลทราบ และแจ้งให้ผู้แพ้การประมูลทราบพร้อมเหตุผลของการแพ้ประมูล
            9. ภาคเอกชน (Suppliers) สามารถยื่นคำร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานราชการต่างๆ ได้ต่อ
- หน่วยงานราชการที่เปิดการประมูล
- Government Accountability Office (GAO)
- U.S. Court 
          10. หน่วยงานราชการทุกแห่งจะมี Contract Administration ทำหน้าที่กำกับดูแลการจัดซื้อจัดจ้างว่าบริษัทที่ผ่าน
การคัดเลือกสามารถปฏิบัติตามสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้อย่างครบถ้วนหรือไม่

การจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (Defense Procurement)
           กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เป็นหน่วยงานราชการที่มีการจัดสรรงบประมาณสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละปีเป็นจำนวนมากที่สุดและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยในปี ค.ศ. 2003 มีการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมากถึง 241 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี ค.ศ. 2004 จำนวน 375.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และปีค.ศ. 2005 จำนวน 401.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยระบบการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมมีลักษณะกระจายอำนาจให้หน่วยงานต่างๆ ภายในกระทรวงฯ อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และ Defense Logistic Agency ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเอง โดยใช้กฎหมายและกฎระเบียบฉบับเดียวกันใช้บังคับ ได้แก่ Federal Acquisition Regulation (FAR) และ Defense Federal Acquisition Regulation (DFARS)
1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหม
    1.1 U.S. Code เช่น
- Competition in Contracting Act (10 U.S.C. 2304) กำหนดให้หัวหน้าหน่วยงานราชการทุกแห่งต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเต็มที่โดยอาจกำหนดข้อยกเว้นบางประการได้
- Small Business Act
- Buy American Act
    1.2 Annual Defense Authorization and Appropriation Acts
    1.3 Federal Acquisition Regulations (FAR) ใช้บังคับกับทุกหน่วยงานภายใต้ รัฐบาลกลาง
    1.4 Defense Federal Acquisition Regulation Supplement (DFARS) ใช้บังคับเฉพาะกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมเท่านั้น
    1.5 Military Department Supplements ใช้บังคับเฉพาะกับหน่วยงานทางทหาร เช่น กองทัพบก ซึ่งเป็นผู้ออกระเบียบภายในเองเท่านั้น
2. วิธีการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหม ใช้วิธีการเดียวกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการอื่นๆ ภายใต้รัฐบาลกลางดังที่ระบุในข้อ 2 โดยอาจมีข้อยกเว้นบางประการที่ไม่ต้องปฏิบัติตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่กฎหมายกำหนด ดังนี้
- มีผู้ขายสินค้าที่ต้องการเพียงรายเดียว
- กรณีเร่งด่วน/ ฉุกเฉิน เช่น กรณีภัยธรรมชาติ
- มีความตกลงระหว่างประเทศ (International Agreement)
- กรณียกเว้นอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด
- กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)
- กรณีเพื่อความมั่นคงของประเทศ (National Security)
อนึ่ง ข้อยกเว้นข้างต้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ขาย (Supplier) ซึ่งเป็นชาวต่างชาติสามารถเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมได้ (Non-U.S. Sources with Necessary Clearances)
3. การเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ของผู้ขายต่างชาติ (Non-U.S. Suppliers)
ปัจจุบันสหรัฐฯ มีกฎหมายหลายฉบับที่มีนโยบายให้ความคุ้มครองผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯ โดยกำหนดให้หน่วยงานรัฐบาลต้องจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์และบริการที่ผลิตภายในประเทศ และจะให้สิทธิและประโยชน์แก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ผลิตในประเทศเป็นพิเศษ อาทิ Buy American Act (BAA), Trade Agreement Act (TAA) และ Appropriations Act เป็นต้น ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญของไทยในการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ รวมถึงกระทรวงกลาโหมด้วย
    3.1 อุปสรรคในการเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
(1) Buy American Act (BAA) มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
1.1) หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลาง (Federal Government)
ต้องไม่จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สุดท้ายภายในประเทศ (Domestic End Products) สำหรับใช้ประโยชน์ภายในประเทศ ซึ่งหลักการพิจารณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์สุดท้ายภายในประเทศ มี 2 ขั้นตอน ดังนี้
- ผลิตภัณฑ์ต้องผลิตในประเทศสหรัฐฯ
- มีต้นทุนของส่วนประกอบภายในประเทศ (Domestic Components) เกินกว่าร้อยละ 50 ของต้นทุนทั้งหมดของผลิตภัณฑ์นั้น
1.2) หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางต้องใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศเท่านั้น (Domestic Construction Materials) สำหรับการก่อสร้างภายในประเทศ
1.3) อย่างไรก็ดี BAA กำหนดข้อยกเว้นให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ (Foreign Products) ได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
- กรณีมีความตกลงทางการค้าต่างๆ ตามที่ระบุไว้ใน Trade Agreement Act
- กรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interests)
- สินค้านั้นไม่มีหรือไม่ผลิตในสหรัฐฯ (Non-availability)
- ราคาสินค้าหรือบริการภายในประเทศสูงเกินไปอย่างไม่สมเหตุสมผล
(Unreasonable Cost)
- การซื้อเพื่อขายต่อเอากำไร (Resale)
- การซื้อเพื่อนำไปใช้นอกประเทศสหรัฐฯ
อนึ่ง Buy American Act จะใช้บังคับเฉพาะกับหน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้รัฐบาลกลาง (Federal Government) เท่านั้น
(2) Authorization Acts, Appropriations Acts และกฎหมายอื่นๆ ที่มีข้อกำหนดห้ามการจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ อาทิ
- Berry Amendment (10 U.S.C.2533a) กำหนดรายชื่อสินค้าที่ไม่อนุญาตให้กระทรวงกลาโหมจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ (Foreign Products) ได้ ได้แก่ อาหาร เสื้อผ้า (cloth) fabric เครื่องมือชนิดพิเศษ (specialty metals) เครื่องมือชั่งตวงวัด (hand or measuring tools) และสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น อาวุธเคมี ส่วนประกอบของเรือ เป็นต้น
- Defense Federal Acquisition Regulation (DFARS: 225.70) กำหนดประเภทและรายชื่อสินค้าที่ไม่อนุญาตให้กระทรวงกลาโหมจัดซื้อจัดจ้างผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเพิ่มเติมจาก Berry Amendment
(3) Socio-Economic Programs เป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้สามารถเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลได้ โดยมีกฎหมาย Small Business Act ระบุให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางทุกแห่งต้องจัดสรรให้ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) สามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลได้ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด กล่าวคือ
- จัดสรรให้ SMEs สามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในฐานะ ผู้รับจ้างหลัก (Prime Contract) ในอัตราส่วนร้อยละ 23
- จัดสรรให้ SMEs ที่มีสตรีเป็นเจ้าของ หรือเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไป (Women-Owned Businesses: WOSB) หรือที่มีบุคคลซึ่งเสียเปรียบทางเศรษฐกิจและสังคมธุรกิจ (Small Disadvantages: SDB) เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไป (คนผิวดำ คน Asian Pacific Americans เป็นต้น) สามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในฐานะผู้รับจ้างหลัก หรือผู้รับจ้างช่วงได้ในอัตราส่วนร้อยละ 5
- จัดสรรให้ SMEs ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเขตที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร (Historical Underutilized Business Zone: HUBZone) สามารถเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในฐานะผู้รับจ้างหลัก (prime contract) ในอัตราส่วน ร้อยละ 3
- จัดสรรให้ SMEs ที่มีทหารผ่านศึกหรือทหารผ่านศึกพิการเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ร้อยละ 51 ขึ้นไป (Service Disable Veteran-Owned Small Business: SD/VOSB) เข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในฐานะผู้รับจ้างหลักหรือผู้รับจ้างช่วง ได้ในอัตราส่วนร้อยละ 3
อนึ่ง การกำหนดสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างดังกล่าวข้างต้นเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ SMEs สหรัฐฯ เท่านั้น
(4) ข้อกำหนดด้านความมั่นคง (Security Issues) กำหนดห้ามกระทรวงกลาโหมจัดซื้อจัดจ้างอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ
(5) Export Control Issues กำหนดห้ามบริษัทต่างชาติเข้ามายื่นซองประมูลสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องได้รับใบอนุญาต (Export License) จากรัฐบาลสหรัฐฯ ก่อน
3.2 ข้อยกเว้นที่จะไม่นำ Buy American Act (BAA) มาใช้บังคับ
(1) Trade Agreements Act of 1979 (TAA) ถือเป็นข้อยกเว้นการบังคับใช้ข้อจำกัดในบทบัญญัติของ BAA (Waiver of BAA Provision) กล่าวคือ หากโครงการจัดซื้อจัดจ้างเข้าเงื่อนไขตามความตกลงการค้าเสรีก็จะไม่นำ BAA มาใช้บังคับ ซึ่งความครอบคลุมของ TAA มีดังนี้
- ความตกลงว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Agreement on Government Procurement: GPA) ซึ่งมีผลผูกพันเฉพาะกับรัฐบาลกลางและมลรัฐเพียง 37 มลรัฐ เช่น มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ฟลอริดา แมสซาชูเซตส์ นิวยอร์ก เทกซัส และวอชิงตัน เป็นต้น
- ความตกลงหลายฝ่ายว่าด้วยการค้าอากาศยานพาณิชย์ (Agreement on Trade in Civil Aircraft)
- ความตกลงเขตการค้าในคาบสมุทรแคริเบียน (The Caribbean Basin Trade Initiative)
- ความตกลงการค้าเสรีต่างๆ (FTA) เช่น ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯ ชิลี
ดังนั้น หากไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ ไทยก็จะได้รับการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมาย Buy American Act เช่นกัน
(2) อย่างไรก็ดี บทบัญญัติของ TAA จะไม่นำมาใช้กับการจัดซื้อจัดจ้าง ดังต่อไปนี้
- การจัดซื้อจัดจ้างสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (Small Businesses)
- การจัดซื้อจัดจ้างอาวุธหรือเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ (National Security)
- การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อขายต่อ (Resale)
- การจัดซื้อจัดจ้างที่กฎหมายระบุไว้เป็นพิเศษ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนพิการหรือสินค้าราชทัณฑ์
- การจัดซื้อจัดจ้างที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถจัดจ้างแบบพิเศษได้ตามกฎหมาย
- บริการบางประเภท ซึ่งขึ้นอยู่กับความตกลงแต่ละฉบับ

(3) ผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถเข้าประมูลหรือยื่นข้อเสนอในการจัดซื้อจัดจ้าง (Eligible Products) ภายใต้กฎหมาย TAA ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศ โดยพิจารณาจาก 2 หลักการ คือ
3.1 หลักการแหล่งกำเนิดหรือผลิตสินค้า (Wholly Growth, Produce or Manufacture) ซึ่งอิงแหล่งที่มาของสินค้าเป็นสำคัญ โดยสินค้านั้นต้องเป็นสินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศนั้นทั้งหมด
3.2 หลักการแปรสภาพในสาระสำคัญ (Substantial Transformation) ซึ่งถือตามขั้นตอนการผลิตและการแปรรูปสินค้าเป็นสำคัญ กล่าวคือ ในกรณีที่สินค้าที่มีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนหรือทั้งหมดจากต่างประเทศ จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเป็นสินค้าใหม่และแตกต่างทั้งชื่อ ลักษณะ และการใช้ประโยชน์จากสินค้าเดิม
(4) MOU on Defense Procurement หากกระทรวงกลาโหมของไทยมีความตกลงด้านการจัดซื้อจัดจ้างกับกระทรวง กลาโหมสหรัฐฯ ไทยก็จะได้รับการยกเว้นจากสหรัฐฯ ที่จะไม่นำกฎหมาย Buy American Act มาใช้บังคับ ทั้งนี้ ก่อนการจัดทำความตกลงกับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะต้องมีการพิสูจน์ให้ได้ว่าการจัดทำความตกลงดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ (Public Interest)
4. โอกาสของภาคเอกชนไทยในการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในฐานะ Subcontractor
หากไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ ภาคเอกชนไทยสามารถเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ทั้งในฐานะผู้รับจ้างหลัก (Prime Contractor) และผู้รับจ้างช่วง (Subcontractor) แต่มีข้อจำกัดบางประการที่กฎหมายสหรัฐฯ บัญญัติห้ามหน่วยงานราชการ subcontract ให้กับภาคเอกชนต่างชาติ ได้แก่ Buy American Act ที่กำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่เกิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสงวนให้กับ SMEs สหรัฐฯ เท่านั้นแม้ว่าไทยจะมี FTAกับสหรัฐฯ แล้วก็ตาม

ข้อสังเกต/ ข้อเสนอแนะ
     จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐฯ เกี่ยวกับการเป็นผู้รับจ้างช่วง (subcontractor) ของภาคเอกชนไทยได้รับการชี้แจงว่า แม้ว่าปัจจุบันไทยยังอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ภาคเอกชนไทยก็สามารถเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ในฐานะผู้รับจ้างช่วง เนื่องจากในกฎหมาย Trade Agreement Act of 1979 มิได้กำหนดวิธีการ subcontract ไว้ รัฐบาลกลางจึงให้หน่วยงานราชการสหรัฐฯ ซึ่งเป็น primecontractor สามารถทำสัญญาจ้างช่วงเอกชนสหรัฐฯ หรือเอกชนต่างชาติได้ อย่างไรก็ดี การทำสัญญาจ้างช่วงให้กับเอกชนต่างชาตินั้นต้องนำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin) มาใช้บังคับ กล่าวคือ หากสินค้านั้นไม่ได้มาจากประเทศที่เป็นสมาชิก WTO/GPA หรือประเทศที่มีความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ จะต้องนำกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้ามาใช้บังคับ ดังนั้น ภาคเอกชนไทยที่จะสามารถเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในฐานะ subcontractor ได้ในขณะนี้ คือ บริษัทของคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และมีประวัติการเสียภาษีให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะถือว่าบริษัทไทยดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับบริษัทสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ระบบการจัดซื้อจัดจ้างตามนัยข้างต้นเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะของหน่วยงานราชการภายใต้รัฐบาลกลาง (Federal Government) เท่านั้น ซึ่งหากไทยต้องการเข้าสู่ระบบการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล  มลรัฐ (State Government) ไทยอาจขอเปิดการเจรจากับแต่ละมลรัฐเป็นการเฉพาะ เนื่องจากในแต่ละมลรัฐมีการบังคับใช้กฎหมายภายในมลรัฐนั้นๆ เองโดยไม่ขึ้นกับรัฐบาลกลาง เช่น Buy Local Act ที่กำหนดให้หน่วยงานราชการภายใต้รัฐบาลมลรัฐจะต้องจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ผลิตภายในมลรัฐเท่านั้น ดังนั้น ในขณะที่ไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ จึงอาจเจรจากับ State Legislator ของแต่ละมลรัฐเพื่อให้แต่ละมลรัฐแสดงสมัครใจที่จะเข้าร่วมในความตกลงการค้าเสรีกับไทยด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
      ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ มีประโยชน์จาก www.uswatch.in.th และหากท่านประสงค์จะสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected],  หรือ [email protected] และทางเว็บไซต์ www.thaiembdc.org