การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 ส.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 ส.ค. 2567

| 266 view

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2567 นางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (Mekong-Lancang Cooperation: MLC) ครั้งที่ 9 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ ฯพณฯ นายหวัง อี้ สมาชิกกรมการเมืองคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมาธิการกลางว่าด้วยการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา สปป. ลาว และเมียนมา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม เข้าร่วมการประชุมด้วย

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สู่อนาคตร่วมของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นและยั่งยืน” (Towards the Shared Future of a Safer and Sustainable Mekong-Lancang Region)” โดยเน้นย้ำเรื่องการเร่งแก้ไขปัญหาความท้าทายเร่งด่วนที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยและความผาสุกของประชาชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน (PM 2.5) และอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะการลักลอบค้ายาเสพติด อาชญากรรมไซเบอร์ และการฉ้อโกงทางโทรคมนาคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยผลักดัน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือแนวทางส่งเสริมความร่วมมือด้านอื่น ๆ ในสาขาความร่วมมือหลักภายใต้กรอบ MLC รวมถึงการส่งเสริมความเชื่อมโยง ทรัพยากรน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน

ในการนี้ ที่ประชุมได้รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๔ ฉบับ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับการสานต่อความร่วมมือในอนาคตในสาขาเกี่ยวข้อง ได้แก่ (1) แถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 9 (2) ข้อริเริ่มว่าด้วยการกระชับความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำแม่โขง-ล้านช้าง (3) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยข้อริเริ่มอากาศสะอาดแม่โขง-ล้านช้าง และ (4) แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือในการปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดนภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง รวมถึงได้รับทราบความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC Leaders’ Meeting) ครั้งที่ 5 ในปี 2568

อนึ่ง กรอบ MLC ซึ่งข้อริเริ่มของไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีจีนเป็นผู้ร่วมผลักดันให้เกิดการจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และลดความเหลื่อมล้ำด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ ผ่านความร่วมมือ 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน และสังคมและวัฒนธรรม และ 5 สาขาหลัก ได้แก่ (1) ความเชื่อมโยง (2) ศักยภาพในการผลิต (3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) ทรัพยากรน้ำ และ (5) การเกษตรและการขจัดความยากจน โดย MLC นับเป็นกรอบความร่วมมือด้านทรัพยากรน้ำกรอบแรกที่มีประเทศลุ่มน้ำโขงเข้าร่วมอย่างครอบคลุม อีกทั้งยังมีความร่วมมือก้าวหน้าเป็นรูปธรรมผ่านการดำเนินโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งจีนสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นกองทุนให้แก่โครงการจากประเทศสมาชิก MLC มากกว่า 800 โครงการ โดยเป็นโครงการที่ริเริ่มและดำเนินการโดยหน่วยงานไทย 93 โครงการ ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยเป็นประธานร่วมกรอบ MLC ร่วมกับจีนสำหรับวาระปี 2567-2568

ภายหลังการประชุม ปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้แถลงข่าวร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนถึงผลลัพธ์ของการประชุม โดยมีทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศในไทยเข้าร่วมประมาณ 50 คน

ที่มา: https://www.mfa.go.th/th/content/9th-mlc-fmm?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ