กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จัดโครงการนำผู้ประกอบการฮาลาลของไทยจำนวน 10 บริษัท เข้าร่วมงาน 6th OIC Halal Expo และนำผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมการประชุม World Halal Summit 2018 ณ นครอิสตันบูล ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2561 เพื่อส่งเสริมการส่งออกและประชาสัมพันธ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย รวมทั้งติดตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมฮาลาลของโลก
โครงการดังกล่าวประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ (1) การจัดแสดงสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานฮาลาลด้านอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าเพื่อสุขภาพ จำนวน 10 บริษัท ในคูหาประเทศไทย (2) เข้าร่วมการประชุม World Halal Summit 2018 ซึ่ง ดร. ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญจากประเทศเจ้าภาพให้เป็นผู้บรรยายในหัวข้อ “Thailand Tourism Policy: Moving Toward Muslim Friendly Destination in the Year 2020” (3) การจัดงานสัมมนาเรื่องโอกาสการค้าการลงทุนในตุรกี โดยมีนางพันทิพา เอี่ยมสุทธา เอกะโรหิต เอกอัครราชทูต ณ กรุงอังการา และนายนิวัฒน์ หาญสวัสดิ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายพาณิชย์) เป็นผู้บรรยาย
การเข้าร่วมงานแสดงสินค้าของไทยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการมีโอกาสจับคู่ทางธุรกิจกับผู้ซื้อและผู้นำเข้า-ส่งออกทั้งจากในตุรกี และประเทศข้างเคียงในทวีปยุโรป ภูมิภาคตะวันออกกลาง และทวีปแอฟริกา โดยผู้เข้าร่วมแสดงสินค้าหลายรายสามารถตกลงทางธุรกิจและมีคำสั่งซื้อได้ทันทีภายในงาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังได้เรียนรู้สภาพตลาดตุรกี วัฒนธรรมความเป็นอยู่
ความสนใจในสินค้าอาหารของไทย ข้อควรรู้และข้อควรระวังในการทำธุรกิจในตลาดตุรกี ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนา สร้างความรู้ความเข้าใจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ
การเข้าร่วมการประชุม World Halal Summit มีผู้แทนหน่วยงานด้านฮาลาลชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมนำเสนอผลงานวิจัย พัฒนาการ และข้อเสนอแนะด้านฮาลาลกว่า 58 คน จาก 24 ประเทศทั่วโลก การเข้าร่วมของไทยในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญให้ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยได้รับฟังพัฒนาการและติดตามความก้าวหน้าในเรื่องฮาลาลในทุกมิติ ได้แก่ อาหาร โรงฆ่าสัตว์ ยาและเวชภัณฑ์ วิทยาศาสตร์ฮาลาล เครื่องนุ่งห่ม ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยว การเงินและการธนาคาร เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้นต่อไป
อนึ่ง โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) ของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มุ่งบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างมาตรฐาน ศักยภาพและขีดความสามารถของไทย เพื่อยกระดับสถานะของไทยและช่วยให้ประเทศไทยไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป