เปิดศักยภาพ “แอฟริกาใต้” ตลาดใหม่ฮาลาล

เปิดศักยภาพ “แอฟริกาใต้” ตลาดใหม่ฮาลาล

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,602 view
กระทรวงการต่างประเทศหาตลาดฮาลาลใหม่ นำผู้ประกอบการร่วมงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม Hostex 2020 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้
 
นายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย พบหารือหน่วยงานในเคปทาวน์เพื่อแสวงหาลู่ทางโอกาสฮาลาลไทยในแอฟริกา รวมทั้งนำผู้ประกอบการฮาลาลของไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Hostex Africa’s Food, drink and hospitality trade Expo หรือที่เรียกว่า Hostex 2020 ณ นครโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ระหว่างวันที่ 1-3 มีนาคม 2563
 
โครงการนี้มุ่งหาตลาดฮาลาลใหม่เพื่อส่งเสริมการค้าและประชาสัมพันธ์ศักยภาพของอุตสาหกรรมฮาลาลของไทย และแสวงหาโอกาสการค้า-การลงทุนในตลาดประเทศแอฟริกาใต้ โดยได้จัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การแสดงสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ได้รับตรารับรองมาตรฐานฮาลาลด้านอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าในธุรกิจบริการในคูหาประเทศไทย การเจรจาทางธุรกิจกับบริษัทผู้นำเข้าสินค้า และการสำรวจคู่แข่งในตลาดประเทศแอฟริกาใต้ ตลอดจนจัดงานสัมมนาเรื่องโอกาสและข้อจำกัดทางการค้าในประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีเรือโทโกเมศ กมลนาวิน เอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย บรรยายร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานการค้าต่างประเทศประจำกรุงพริทอเรีย และเจ้าของธุรกิจไทยในประเทศแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจและแลกเปลี่ยนประสบการทำธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ บริษัท จันทบุรี ฟรุ๊ต โปรดักส์ จำกัด บริษัท ฟูดเบลสซิง (1988) จำกัด บริษัท โฮม พอตเทอรี จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอเอ็มจี คอร์เปอเรชัน จำกัด บริษัท อาร์ เอส ฟูดส์เทค (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยโคโคนัท จำกัด (มหาชน) และบริษัท ยูเนียน อินต้า จำกัด
 
อธิบดีเชิดชาย ยังได้พบหารือกับหอการค้าแห่งรัฐเวสต์เคป (Wescape Chamber of Commerce) สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนแห่งเวสต์เคป (WESGRO) และสมาคมฮาลาลแห่งแอฟริกาใต้ (SANHA) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดมากขึ้นเตรียมพร้อมการเปิดตลาดสู่แอฟริกาใต้ ทั้งนี้ การเปิดการค้าเสรีในภูมิภาคแอฟริกา AfCFTA จะช่วยให้ตลาดแอฟริกาเปิดกว้างขึ้นอีกมาก
 
ประเทศแอฟริกาใต้มีประชากรเกือบ 60 ล้านคน เป็นชาวมุสลิมประมาณ 1 ล้านคน ธุรกิจกว่าร้อยละ 45 ของแอฟริกาใต้ใช้ฮาลาลเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดมาตรฐานอาหารปลอดภัย โดยผ่านท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือเดอร์บัน ท่าเรือเคปทาวน์ และท่าเรือ โดยประเทศแอฟริกาใต้ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากในภูมิภาคแอฟริกาเหนือด้วย
 
“เศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากผลกระทบสงครามการค้าและการแพร่ระบาดของไวรัสอุบัติใหม่ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยต้องขยายตลาดให้กว้างไกลขึ้นและแสวงหาโอกาสใหม่ ดังนั้น การนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมโครงการครั้งนี้จะช่วยให้เรียนรู้สภาพตลาดประเทศแอฟริกาใต้ในหลายระดับ วัฒนธรรมความเป็นอยู่ ความสนใจในสินค้าอาหารไทย ข้อควรรู้และข้อควรระวังในการทำธุรกิจในตลาดประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยในต่างประเทศ โดยสินค้าไทยยังมีโอกาสในแอฟริกาใต้อีกมาก” นายเชิดชายกล่าว
 
กระทรวงการต่างประเทศมุ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) โดยร่วมบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเสริมสร้างมาตรฐาน ศักยภาพและขีดความสามารถของไทย เพื่อยกระดับสถานะของไทยและช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ