เกาะติดเศรษฐกิจลาตินอเมริกาที่น่าสนใจ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก
ชิลีครองตำแหน่งเศรษฐกิจหลากหลายต่ำที่สุดของลาตินอเมริกา
จากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัย Harvard และสถาบัน MIT สหรัฐอเมริกา ระบุว่า แม้เศรษฐกิจชิลีจะมีเสถียรภาพสูงและมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กลับต้องพึ่งพาการผลิตทองแดงอยู่มาก ทั้งๆ ที่การขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตทองแดงเพิ่งเพิ่มขึ้นในช่วงไม่กี่ปีมานี้ พร้อมทั้งให้ความเห็นว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจดังกล่าวอาจจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของชิลีขาดความยั่งยืน
โดยในตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกันยายน 2554 ชิลีมีการส่งออกทองแดง คิดเป็นสัดส่วนเป็นร้อยละ 66.3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ ตามมาด้วยการส่งออกเยื่อไม้ร้อยละ 4.2 และการส่งออกปลาแซลมอนและปลาเทราต์ร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อรวมสินค้าส่งออกสามอันดับแรกของประเทศแล้วก็มีสัดส่วนถึง 3 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของชิลี และทำให้ชิลีเป็นหนึ่งในสองประเทศของภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีความหลากหลายของสินค้าส่งออกต่ำที่สุด คู่กับเวเนซุเอลา ซึ่งมีสินค้าส่งออกสำคัญคือ น้ำมันปิโตรเลียม นอกจากนี้ หากพิจารณาแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตแล้วยังพบว่า เศรษฐกิจชิลีมีแนวโน้มที่จะเติบโตระหว่างปี 2551 - 2563 เพียงร้อยละ 2.05 ขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคลาตินอเมริกามีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 2.73 3.02
ผู้อำนวยการศูนย์ International Development มหาวิทยาลัย Harvard ให้ความเห็นว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจชิลีควรพึ่งพาการทำเหมืองแร่ทองแดงให้น้อยลง และหันมาส่งเสริมการขยายตัวของภาคธุรกิจเกิดใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาแซลมอนให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจที่ยังมีอัตราการเติบโตต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาที่จะยั่งยืนกว่าการพัฒนาภาคธุรกิจที่ขยายตัวอยู่แล้ว สอดคล้องกับผลการศึกษา ของ The Atlas of Economic Complexity: Mapping Path to Prosperity ซึ่งวิเคราะห์เปรียบเทียบแนวทางการขยายตัวของเศรษฐกิจ 126 ประเทศทั่วโลกพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการสร้างความหลากหลายให้กับระบบการผลิต และลดสัดส่วนการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบของประเทศ
ที่มา www.santiagotimes.cl วันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 2011
ปานามาหนุนโยบายกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ
ประธานาธิบดีริการ์โด มาร์ติเนลลี ระบุว่า รัฐบาลปานามามีนโยบายจะจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereignty Wealth Fund) เพื่อรวบรวมรายได้ที่มาจากการบริหารคลองปานามาไว้เป็นเงินออมสำหรับใช้จ่ายในโครงการที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะด้าน รวมถึงใช้ในการชำระหนี้และบรรเทาทุกข์กรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยจะได้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณาในเร็วๆ นี้
ก่อนหน้านี้ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของปานามาได้เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวไว้หลายครั้ง โดยได้แจ้งว่า รัฐบาลปานามากำลังได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวอยู่
กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติที่รัฐบาลปานามาจะจัดตั้งขึ้นนี้มีลักษณะเช่นเดียวกันกับกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีรายได้และผลกำไรมหาศาลจากการส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมของตน
นักเศรษฐศาสตร์ชาวปานามาหลายรายเห็นด้วยกับแนวความคิดของรัฐบาลปานามาในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว แต่ก็เห็นว่ากองทุนนี้ควรมีบทบาทช่วยลดรายจ่ายทางสังคมและลดการขาดดุลการคลังของรัฐบาลได้ด้วย
ปัจจุบัน คลองปานามานำส่งรายได้ให้เป็นเงินคงคลังของรัฐบาลปานามาจำนวนประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเป็นที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2568 เงินรายได้ดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 1,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการสะสมเงินภายใต้กองทุนความมั่งคั่งดังกล่าวของรัฐบาลปานามา
ที่มา http://www.americaeconomia.com วันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ. 2011
การส่งออกคอสตาริกาขยายตัวต่อเนื่อง
หน่วยงานส่งเสริมการส่งออกของคอสตาริกา (Procomer) รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2554 การส่งออกของประเทศมีมูลค่า 7,641 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553
ผู้แทน Procomer ระบุว่า การส่งออกคอสตาริกายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสินค้าส่งออกประเภทไมโครชิพของบริษัทอินเทล ซึ่งมีบทบาทเป็นสินค้าออกที่สำคัญของคอสตาริกาจะมีปริมาณลดลงเล็กน้อยก็ตาม
หากเปรียบเทียบอัตราการเจริญเติบโตของสินค้าส่งออกประเภทต่างๆ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 แล้ว พบว่า สินค้าจากอุตสาหกรรมพลาสติกมีการขยายตัวสูงที่สุดร้อยละ 31.2 ตามมาด้วยเครื่องจักรกลโลหะร้อยละ 23.2 อุตสาหกรรมเคมีร้อยละ 20.4 และอุตสาหกรรมประมงและปศุสัตว์ร้อยละ 12
ผู้แทน Procomer แสดงความเชื่อมั่นด้วยว่า เศรษฐกิจคอสตาริกามีความพร้อมที่จะรับมือกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกากลางเนื่องจากสินค้าส่งออกของคอสตาริกามีความหลากหลายมากกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงตลาดส่งออกได้มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมักพึ่งพาสหรัฐอเมริกาเพียงตลาดเดียว
ตลาดส่งออกหลักของคอสตาริกาเมื่อเดือนกันยายน 2554 ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 43 ตามมาด้วยภูมิภาคอเมริกากลางร้อยละ 20 สหภาพยุโรปร้อยละ 18 และทวีปเอเชียร้อยละ 12
ที่มา www.terra.com วันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ. 2011
รัฐบาลคอสตริกาเตรียมลงทุนกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบูรณะเส้นทางการคมนาคม
รัฐบาลคอสตาริกาเตรียมลงทุนกว่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อบูรณะฟื้นฟูทางหลวงกว่า 300 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเส้นทางการคมนาคมยาว 1,250 กิโลเมตรที่ได้รับความเสียหายจากเหตุฝนตกหนักในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาคอเมริกากลาง และทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 120 ราย
รัฐบาลคอสตาริกาวางแผนที่จะดำเนินโครงการฟื้นฟูดังกล่าวโดยเร่งด่วนเนื่องจากความเสียหายของถนนหลวงได้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการท่องเที่ยวในประเทศแล้ว อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีเลารา ชินชียา แห่งคอสตาริกาได้แสดงความห่วงกังวลว่า ความเสียหายของระบบสาธารณูปโภคที่เกิดจากภัยธรรมชาติได้ทำให้รัฐบาลมีความจำเป็นต้องก่อหนี้จำนวนมหาศาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับระบบการคลังของประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังจำเป็นต้องดำเนินการฟื้นฟูความเสียหายดังกล่าวโดยเร็ว
ทั้งนี้ ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ประธานาธิบดีชินชียาเป็นหนึ่งในผู้นำจากประเทศในภูมิภาคอเมริกากลางที่ออกมาขอให้นานาชาติส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับประชาชนชาวอเมริกากลางที่ประสบความเดือดร้อนจากภาวะฝนตกหนักตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่มา http://feeds.univision.com วันที่ 28 ตุลาคม 2011
เอลซัลวาดอร์ขาดดุลการค้างต่างประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 23
ธนาคารกลางเอลซัลวาดอร์ รายงานว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงกันยายน 2554 การส่งออกของเอลซัลวาดอร์มีมูลค่า 4,105.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 7,698.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งผลให้ในช่วงเก้าเดือนแรกของปีนี้ เอลซัลวาดอร์ขาดดุลการค้าระหว่างประเทศแล้ว 3,592.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 23.7
เดือนกันยายน 2554 สินค้าส่งออกประเทศดั้งเดิมของเอลซัลวาดอร์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก ในระดับต้นๆ ได้แก่ กาแฟ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 420.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และน้ำตาล 106.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สินค้าส่งออกที่ไม่ใช่ประเภทดั้งเดิม อาทิ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องจักรกล ภาชนะพลาสติก เหล็กและผลิตภัณฑ์ มีมูลค่าการส่งออก 2,640.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีสัดส่วนเป็นร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมดของเอลซัลวาดอร์ นอกจากนี้ สินค้าส่งออกจากโรงงานประกอบผลิตภัณฑ์ (Maquiladora) มีมูลค่ารวม 937.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในส่วนของสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุดได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมซึ่งมีการนำเข้ามูลค่า 1,342.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยสินค้าและอุปกรณ์สำหรับใช้ในโรงงานประกอบ ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 792.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ที่มา www.terra.com วันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 2011
เงินลงทุนจากต่างประเทศในเอลซัลวาดอร์เพิ่มขึ้น
คณะกรรมการเศรษฐกิจแห่งลาตินอเมริกาและแคริบเบียนของสหประชาชาติ (ECLACหรือCEPAL) รายงานว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอลซัลวาดอร์ตลอดครึ่งแรกของปี 2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1,404 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ทำให้เอลซัลวาดอร์เป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวของการลงทุนจากต่างประเทศที่สูงที่สุดจากการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศใน 18 ประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนของ ECLAC ครั้งล่าสุด
ตลอด 6 เดือนแรกของปี 2554 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเอลซัลวาดอร์มีมูลค่า 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2553 การลงทุนดังกล่าวมีมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐอีกทั้งยังเป็นจำนวนที่สูงกว่าเงินลงทุนจากต่างประเทศรวมตลอดปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าเพียง 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น
การขยายตัวของปริมาณการลงทุนจากต่างประเทศดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์ตั้งแต่ช่วงปี 2553 เป็นต้นมา อย่างไรก็ดี อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอลซัลวาดอร์ประจำปี 2554 ซึ่งเดิมรัฐบาลคาดการณ์การขยายตัวไว้ที่ร้อยละ 2.5 อาจได้รับผลกระทบภายหลังประเทศประสบภาวะวิกฤตฝนตกหนัก ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่เอลซัลวาดอร์เป็นมูลค่ากว่า 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว
ที่มา http://www.prensa-latina.cu วันที่ 26 ตุลาคม ค.ศ.2011