วิกฤตหนี้กรีซ ความห่วงกังวลที่ชาวโลกต้องจับตา

วิกฤตหนี้กรีซ ความห่วงกังวลที่ชาวโลกต้องจับตา

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,227 view

วิกฤตหนี้กรีซ ความห่วงกังวลที่ชาวโลกต้องจับตา


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ 
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์
[email protected]

 


                  เมื่อทั่วโลกเริ่มรับข่าววิกฤตหนี้ในกรีซในช่วงแรก อาจมีเพียงบางคนที่เข้าใจถึงความเป็นไปและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโลก  แต่กลับกลายเป็นข่าวการจลาจลในกรีซที่ทำให้คนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับวิกฤตการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศและประชาชนของตน

                  จากการติดตามสถานการณ์ในกรีซมาโดยตลอด  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเอเธนส์ ได้รายงานความคืบหน้าการบริหารจัดการหนี้สินของรัฐบาลกรีซ ภายหลังจากมติของที่ประชุม Eurogroup (eurozone finance ministers, the president of the European Central Bank and European Commission chiefs) เมื่อเดือน ก.พ. ๒๕๕๕  ซึ่งรัฐบาลกรีซได้รับอนุมัติเงินช่วยเหลือระยะสองในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมูลค่า ๑๓๐ พันล้านยูโร ซึ่งส่วนหนึ่งจะเข้าสู่สถาบันการเงินกรีซไม่ต่ำกว่า ๕๐ พันล้านยูโร และการปรับลดหนี้ของภาคเอกชนลงร้อยละ ๕๓.๕ ด้วยการลดอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้และออกตราสารใหม่เพิ่มเติม ที่จะมีผลให้หนี้สินภาคเอกชนลดลงประมาณ ๑๑๐ ล้านยูโร จากเดิม ๒๐๖ ล้านยูโร  ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลกรีซต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดด้านการเงินและการคลังอย่างจริงจัง พร้อมไปกับการดำเนินมาตรการที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับเศรษฐกิจของกรีซ  ซึ่งต่อมา รัฐบาลกรีซได้ออกกฎหมายเพื่อลดทอนรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลและเงินบำนาญ ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สินค้าฟุ่มเฟือย และลดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้ประหยัดรายจ่ายได้ถึงกว่า ๓.๒ พันล้านยูโร


                เป็นที่น่าสังเกตว่า มาตรการเหล่านี้มุ่งผลระยะยาวเพื่อแก้ไขปัญหาขั้นพื้นฐานที่เรื้อรังในระบบเศรษฐกิจของกรีซ โดยที่ในระยะสั้น สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P และ Fitch ยังคงปรับลดความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจกรีซลงอย่างต่อเนื่อง

                 นอกจากนี้ หลายฝ่ายยังไม่มั่นใจว่า ความช่วยเหลือและมาตรการข้างต้นจะเพียงพอต่อการที่กรีซจะพ้นจากภาวะล้มละลายในเร็ววัน โดยเฉพาะการที่มูลค่าหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์   มวลรวมประชาชาติของกรีซจะลดลงไปอยู่ระดับร้อยละ ๑๒๐ ในปี ค.ศ. ๒๐๒๐  นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า เศรษฐกิจกรีซจะดีขึ้นได้อย่างไร หากมาตรการรัดเข็มขัดทำให้ชาวกรีซจนลง  ในขณะที่ผู้นำอียูกลับ

               เห็นถึงความจำเป็นในการตัดทอนรายจ่าย ซึ่งย่อมกระทบกับเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว ต้นทุนการประกอบธุรกิจในกรีซที่ลดลงจะดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ และช่วยสูบฉีดกลับเข้าสู่ระบบได้ในอนาคต

                คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกชาติต่างกังวลถึงผลกระทบจากวิกฤตการณ์หนี้ของกรีซต่อเศรษฐกิจของตน เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่จับตามองสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด  ถึงแม้จะมั่นใจว่า ภาวะล้มละลายของกรีซจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากระดับมูลค่าการลงทุนของยุโรปในไทยยังไม่สูงมาก จึงจะได้รับผลกระทบไม่มากนัก ในกรณีที่มีการดึงเงินกลับประเทศเพื่อลดทอนความสูญเสียจากการขาดความสามารถในการใช้หนี้ของกรีซ
  
               วิกฤตหนี้ของกรีซย่อมเป็นอุทาหรณ์ของรัฐบาลไทยในการดำเนินมาตรการการเงินการคลังอย่างระมัดระวัง ก่อนที่จะบานปลายจนกลายเป็นวิกฤตประเทศที่กระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
เช่นที่กรีซประสบอยู่ในขณะนี้