เปิดมุมมองเศรษฐกิจโปรตุเกสภายใต้วิกฤติยุโรป

เปิดมุมมองเศรษฐกิจโปรตุเกสภายใต้วิกฤติยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 28 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 23 พ.ย. 2565

| 4,654 view

เปิดมุมมองเศรษฐกิจโปรตุเกสภายใต้วิกฤติยุโรป


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน
(อีเมล์
[email protected] )


             หากท่านได้ติดตามความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ข่าวเด่นตลอดปีที่ผ่านมาคงหนีไม่พ้นประเด็นวิกฤติหนี้และสภาพเศรษฐกิจอันถดถอยของหลาย ๆ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป โปรตุเกสก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เกิดปัญหาดังกล่าวและได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากสหภาพยุโรปที่ต้องการจะประคับประคองเศรษฐกิจโดยรวมของภูมิภาคให้อยู่รอดต่อไปได้

             ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิสบอน ได้รวบรวมมุมมองต่างๆเกี่ยวกับเศรษฐกิจโปรตุเกสจากทั้งฝั่งรัฐบาลโปรตุเกส สหภาพยุโรป IMF และนักเศรษฐศาสตร์ ที่ได้กล่าวผ่านการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนรวมไปถึงปาฐกถาต่างๆในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดังนี้

             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของโปรตุเกส กล่าวปาฐกถาที่สหรัฐฯ เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลโปรตุเกสจะไม่ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติม และจะไม่ซื้อเวลาในการปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือกลับคืนมา ทั้งยังเชื่อมั่นว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปพร้อมจะสนับสนุนโปรตุเกส ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเยอรมนี ก็เชื่อมั่นมากว่าโปรตุเกสจะปฏิบัติตามเป้าหมายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ และจะกลับสู่ภาวะเศรษฐกิจเจริญเติบโตได้โดยเร็ว

             นอกจากนี้ กรรมาธิการเศรษฐกิจและการเงินของสหภาพยุโรป กล่าวว่าโปรตุเกสเดินมาถูกทางเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการคลังและการสร้างความเชื่อมั่น ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์ของโปรตุเกสแตกต่างจากกรีซ โดยเฉพาะหนี้ของโปรตุเกสซึ่งมีปริมาณน้อยกว่า ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากมวลชนต่อนโยบายปฏิรูปทางเศรษฐกิจอีกด้วย โดยเฉพาะนาย Jose Manuel Durao Barroso ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ได้กล่าวชื่นชมโปรตุเกสที่พยายามเปิดตลาดเพื่อหาลู่ทางการค้ากับประเทศคู่ค้าใหม่ ๆ พร้อมทั้งเชื่อมั่นว่าโปรตุเกสจะมีศักยภาพในการแข่งขันมากทีเดียว

             ส่วนทางด้านหัวหน้าคณะผู้แทน IMF ประจำโปรตุเกส เห็นว่าโปรตุเกสน่าจะเริ่มระดมเงินผ่านตลาดพันธบัตรระหว่างประเทศได้ในปีหน้า อีกทั้งโปรตุเกสยังจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อสร้างความเชื่อมั่นกลับคืนมา

             อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของนักเศรษฐศาสตร์และการเงินยังคงมีมุมมองด้านลบต่อยุโรป อาทิ กรรมการผู้จัดการของ Roubini Global Economics ที่มองว่าโปรตุเกสและไอร์แลนด์จะเป็นประเทศต่อไปที่จะต้องขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมและเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกรรมการผู้จัดการกองทุน PIMCO ที่เห็นว่าโปรตุเกสต้องขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติม แต่ก็เชื่อว่าสหภาพยุโรปจะยินดีให้ความช่วยเหลือโปรตุเกสเนื่องจากรัฐบาลโปรตุเกสมีแผนงานชัดเจนและประชาชนส่วนใหญ่ก็ให้ความสนับสนุน แต่ปัญหาของโปรตุเกสก็คืออาจไม่สามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เพียงพอนำเงินมาชำระได้ และภาคเอกชนบางส่วนอาจไม่สามารถชำระหนี้สินคืนแก่เจ้าหนี้