สายการบินมาเลฟของฮังการีล้มละลายและยุติการให้บริการ

สายการบินมาเลฟของฮังการีล้มละลายและยุติการให้บริการ

วันที่นำเข้าข้อมูล 23 ก.พ. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,642 view

 

สายการบินมาเลฟของฮังการีล้มละลายและยุติการให้บริการ


 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์
อีเมล์
[email protected], [email protected]

 

                  สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูดาเปสต์ รายงานว่า สายการบินมาเลฟ (Malév) ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติของฮังการี ได้ประกาศยุติการให้บริการเที่ยวบินทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา 07.00 น. หลังจากที่ให้บริการมายาวนานอย่างต่อเนื่องถึง 66 ปี เนื่องจากประสบภาวะล้มละลายและไม่สามารถจัดหาเงินทุนสนับสนุนเพิ่มเติมสำหรับดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทั้งนี้ การยุติบริการในวันดังกล่าวส่งผลให้มีผู้โดยสารจำนวน 3,500 คน ตกค้างที่สนามบินกรุงบูดาเปสต์และอีก 3,700 คน ต้องตกค้างในสนามบินอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลฮังการีได้จัดตั้งกองทุนเฉพาะกิจมูลค่า 9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อชดเชยค่าเดินทางแก่ผู้โดยสารดังกล่าว ส่วนพนักงานสายการบินจำนวน 2,600 คนที่ว่างงาน รัฐบาลมีแผนจะใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสังคมเพื่อจ่ายเงินเดือนเดือนมกราคมให้แก่พนักงานทั้งหมด


                  ก่อนหน้านี้ สายการบินมาเลฟมีหนี้สินสะสมสูงถึง 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการล้มละลายคือคำสั่งของสหภาพยุโรปที่ให้สายการบินมาเลฟจ่ายคืนเงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาลทั้งหมดในช่วงปี 2550-2553 คำสั่งดังกล่าวทำให้พันธมิตรทางธุรกิจของมาเลฟขาดความเชื่อมั่นในสถานะการเงินของสายการบินจึงเริ่มไม่ให้เครดิตสำหรับการดำเนินธุรกิจ และเรียกร้องให้ชำระหนี้สินที่คั่งค้าง โดยท่าอากาศยานกรุงเทลอาวีฟ ของอิสราเอล และท่าอากาศยานกรุงดับลินของไอร์แลนด์ ถึงกับกักเครื่องบินของสายการบินมาเลฟไว้ แห่งละ 1 ลำ และไม่อนุญาตให้นำเครื่องขึ้นจนกว่าสายการบินจะชำระหนี้สินแก่ท่าอากาศยาน


                 สำหรับการบริการเดินอากาศของสายการบินมาเลฟที่หายไป ได้มีสายการบินต่างๆ เริ่มเข้ามาให้บริการทดแทน โดยเฉพาะสายการบินต้นทุนต่ำ อาทิ WizzAir (สายการบิน low cost รายเดียวของฮังการี) ได้นำเครื่องบิน Airbus A 320s ใหม่จำนวน 2 ลำ เพื่อเพิ่มจำนวนเที่ยวบินทั้งในเส้นทางเดิมและเส้นทางใหม่จาก 67 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 129 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายเพิ่มจำนวนผู้โดยสารที่บูดาเปสต์จาก 1.4 ล้านคน เป็น 2 ล้านคนต่อปี และมีการจ้างงานเพิ่มอีก 700 ตำแหน่ง ส่วน Ryanair ประกาศว่าจะนำเครื่องบิน Boeing 737-800s อีก 1 ลำ รวมเป็น 4 ลำ เพื่อให้บริการ 31 เส้นทางบินและจัดงาน Open day เพื่อรับสมัครอดีตพนักงานของมาเลฟมาเข้าทำงาน ขณะที่สายการบิน Smart Wings (สายการบิน low cost ของเซ็ก) ประกาศว่าจะเพิ่มเส้นทางบินใหม่จากบูดาเปสต์เป็น 13 เส้นทาง ใน 2-3 สัปดาห์นี้


                 บริษัท Budapest Airport ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติ Liszt Ferenc ของกรุงบูดาเปสต์ แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อรายได้ของท่าอากาศยาน โดยระบุว่า มาเลฟเป็นสายการบินหลักที่ให้บริการนำผู้โดยสารเดินทางผ่านเข้า-ออก ท่าอากาศยานบูดาเปสต์ จำนวนกว่า 3 แสนคนต่อปี หรือกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้โดยสารทั้งหมดของประเทศ สร้างรายได้ให้แก่ท่าอากาศยานฯ ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสายการบินมาเลฟสร้างรายได้ให้แก่องค์การควบคุมการเดินอากาศ HungaroControl ของฮังการี ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้ทั้งหมด


                 อย่างไรก็ดี การล้มละลายของสายการบินมาเลฟได้สร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่สายการบินอื่นๆ โดยเฉพาะสายการบินของยุโรป ที่จะเข้ามาให้บริการทดแทนในเส้นทางบินที่มาเลฟเคยให้บริการ จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทการบินไทย รวมทั้งสายการบินอื่นๆ ของไทยที่ต้องการขยายการให้บริการในตลาดยุโรป โดยเฉพาะเส้นทางการบินในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก ทั้งนี้ มาเลฟเป็นสายการบินฮังการีสายการบินเดียวที่ได้รับอนุญาต (exclusive rights) ให้ทำการบินไปยังกรุงเคียฟ เทลอาวีฟ และนครอิสตันบูล จากบูดาเปสต์ นอกจากนี้ การที่ท่าอากาศยานกรุงบูดาเปสต์ประสบปัญหารายได้ที่ลดลงอาจทำให้บริษัท Budapest Airport ต้องปรับปรุงข้อเสนอแก่สายการบินที่มาใช้บริการให้ดีขึ้นด้วยซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสายการบินที่จะเข้ามาร่วมดำเนินธุรกิจ