วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
โอกาสสินค้าเกษตรอินทรีย์สดใสในกรุงลอนดอน
จาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน
(http://www.thaiembassyuk.org.uk/ หรือไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] )
เมื่อวันที่ 10-16 เมษายน 2553 สำนักส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สคร.) ณ กรุงลอนดอนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผัก ผลไม้ และเครื่องปรุงอาหารไทย ภายใต้โครงการ A Gourment Journey to Celebrate Thai New Year ณ ห้าง Whole Foods Market สาขา High Street Kensington สหราชอาณาจักร โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ดังนี้
1. ภายในงานได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การนำผักผลไม้ไทยมาจำหน่าย (ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน ผักบุ้ง โหระพา กระเพรา มะม่วง มังคุด ขนุน สับปะรด แก้วมังกร) การสาธิตแกะสลักผลไม้ไทย สาธิตการปรุงอาหารไทย การทำ Thai cocktail (โดยใช้ลิ้นจี่และใบมะกรูดเป็นส่วนผสม) ตลอดจนมีกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การชิงบัตรโดยสารเครื่องบินและโปรแกรมท่องเที่ยวประเทศไทย เป็นต้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของอาหารไทยว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพและเพื่อเป็นการเจาะตลาด niche market สินค้าเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมมากของผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ
2. ห้าง Whole Foods Market เป็นห้างสรรพสินค้าจำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อาหาร organic ชั้นนำจากสหรัฐอเมริกา มีหลายสาขาในสหราชอาณาจักร เฉพาะในกรุงลอนดอนมีทั้งหมด 5 สาขา โดยห้าง Whole Foods Market จะเน้นจำหน่ายเฉพาะสินค้าเกษตรอินทรีย์ และสินค้า fair trade** ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันห้าง Whole Foods Market นำเข้าสินค้าอาหารจากไทยประมาณปีละ 20 ล้านบาท คาดว่ายอดสั่งซื้อเฉพาะงานดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท อย่างไรก็ดี จะส่งผลให้มีการนำเข้าจากไทยในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท
3. ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักร มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐ ฯ และเยอรมนี มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 200 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2546-2550 แม้ว่าปัจจุบันอาจชะลอตัวลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ทั้งนี้ สินค้าเกษตรอินทรีย์มีวางขายใน
ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่สำคัญๆ ได้แก่ Tesco, Sainsburys และ Waitrose รวมถึงห้างที่วางขายเน้นสินค้าเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ อาทิ Whole Foods Market เป็นต้น
4. ปัจจุบันมีร้านอาหารไทยจำนวนกว่า 1,700 ร้านในสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของสินค้าเครื่องปรุงอาหารไทยและลูกค้าของห้าง Whole Foods Market โดยสหราชอาณาจักรนอกจากจะเป็นตลาดการส่งออกที่สำคัญของไทยแล้ว ยังเป็นตลาดที่ไทยได้เรียนรู้แนวโน้มรสนิยมของผู้บริโภคในยุโรปอันจะนำไปสู่การพัฒนายกระดับคุณภาพของสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยยังมีลู่ทางที่ดีในสหราชอาณาจักร เนื่องจากกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อและพร้อมที่จะจ่ายให้กับสินค้าที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนช่วยให้สินค้าไทยติดตลาดได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม สินค้าจากไทยจำเป็นต้องเตรียมพร้อมที่จะประสบกับประเด็นท้าทายต่างๆ อาทิ กฎระเบียบที่เข้มงวดของสหภาพยุโรป การบริหารจัดการด้าน logistics รวมทั้งประเด็นใหม่ๆ อาทิ fair trade หรือ food mile ที่มีความพยายามพัฒนาให้เป็นหรือกำลังกลายเป็นค่านิยมของผู้บริโภคชาวอังกฤษไปแล้ว
ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลและชมรูปภาพของการจัดงานฯ ได้เพิ่มเติมที่ www.thaieurope.net
**ตรารับรองมาตรฐานการค้าที่เป็นธรรม หรือ Fair trade label เป็นการรับประกันมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่ริเริ่มโดยภาคเอกชนโดยมีแรงผลักดันมาจากกลไกตลาด (market-based approach) มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือผู้ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) โดยมีหลักการ คือ ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อรับรองว่าการผลิตสินค้านั้นจะครอบคลุมต้นทุนการผลิต ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกร ผู้ผลิต หรือแรงงานที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และยังครอบคลุมถึงการช่วยเหลือทางด้านสังคม หรือส่งเสริมมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ผลิตอีกด้วย ข้อมูลจาก www.thaieurope.net
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)