ผลกระทบในรอบ 1 เดือนจากมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ในการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดร้อยละ 50 ในสินค้าเกษตรประเภทถั่วฝักยาว ผักตระกูลถั่ว และกะหล่ำ

ผลกระทบในรอบ 1 เดือนจากมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ในการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดร้อยละ 50 ในสินค้าเกษตรประเภทถั่วฝักยาว ผักตระกูลถั่ว และกะหล่ำ

วันที่นำเข้าข้อมูล 13 มิ.ย. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,145 view

ผลกระทบในรอบ 1 เดือนจากมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ในการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวด
ร้อยละ 50 ในสินค้าเกษตรประเภทถั่วฝักยาว ผักตระกูลถั่ว และกะหล่ำ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์
(http://www.thaiembassy.be/ หรืออีเมล์ [email protected])

      สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้จัดส่งรายงานซึ่งจัดทำโดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป เรื่องผลกระทบในรอบ 1 เดือนจากมาตรการของสหภาพยุโรป (EU) ในการสุ่มตรวจอย่างเข้มงวดร้อยละ 50 ในสินค้าเกษตรประเภทถั่วฝักยาว ผักตระกูลถั่ว และกะหล่ำ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

      1. ตามข้อมูลที่ได้รับจากเอกชนไทยที่ส่งออกผักไปยังสหภาพยุโรปพบว่า การส่งออกผักไทยในกลุ่มที่โดนตรวจอย่างเข้มงวดประสบภาวะชะลอตัว เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสารตกค้างสูงขึ้น อีกทั้งเมื่อผลการตรวจในห้องแล็ปเสร็จสิ้นแล้ว ส่งผลให้สินค้าไม่อยู่ในสภาพสดเท่าที่ควร นอกจากนี้  การตรวจที่ด่านต่างๆ ทั่วยุโรปใช้เวลาไม่เท่ากัน ดังนั้นผู้นำเข้าในสหภาพยุโรปจึงเริ่มหันไปสั่งสินค้าจากแหล่งอื่น ซึ่งรวมถึงผักรายการอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ เพื่อลดขั้นตอนในการสั่งซื้อจากหลายแห่ง
 

     2. สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ได้ศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องพบว่า กฎระเบียบของสหภาพยุโรปเปิดช่องให้อำนาจและดุลยพินิจแก่เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจ ณ ด่านนำเข้า ในการอนุญาตให้สินค้าส่วนที่ไม่ถูกสุ่มตรวจเคลื่อนย้ายออกจากด่านไปยังจุดหมายก่อนได้ เพื่อรอการจำหน่ายเมื่อได้รับผลการตรวจจากห้องแล็ปแล้วว่าไม่มีสารตกค้าง ดังนั้นการปฏิบัติของแต่ละด่านที่แตกต่างกันจึงเกิดจากดุลยพินิจและระดับความเชื่อใจของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อผู้นำเข้าแต่ละราย ว่าจะไม่นำสินค้าที่ได้รับการปล่อยออกจากด่านแล้วไปลักลอบจำหน่ายในท้องตลาดก่อนจะได้รับผลการตรวจสอบจากห้องปฏิบัติการว่าผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

      3. นอกจากสินค้าทั้งสามชนิดดังกล่าวข้างต้น ขณะนี้ด่านหลายแห่งใน EUได้เริ่มมาตรการตรวจอย่างเข้มงวดในสินค้าประเภทพริกด้วยเช่นกัน ฝ่ายไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจาก EU อาจขยายประเภทผักที่ได้รับการตรวจอย่างเข้มงวดเพิ่มเติมสำหรับรอบการประเมินครั้งที่ 1 ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2553 นี้
 

     4. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า ผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทยทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันมากขึ้น เพื่อเพิ่มความเข้มงวดกวดขันและแก้ไขปัญหาสารตกค้างในผักผลไม้อย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ รวมถึงบริษัทไทยที่ส่งออกสินค้าประเภทนี้ ก็คงต้องคัดเลือกเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานจริงๆ ที่จะส่งออกไปยัง EU และประเทศอื่นๆ ที่มีเครื่อข่ายเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน   เพราะหากยังมีการตรวจพบสารตกค้างในระดับเดิมใน 3-4 เดือนต่อจากนี้   ก็เป็นไปได้สูงที่ EU จะปรับเพิ่มมาตรการสุ่มตรวจในระดับที่เข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ไทยต้องสูญเสียตลาดผักสดเช่นเดียวกับที่เคยสูญเสียตลาดหน่อไม้ฝรั่งและข้าวโพดอ่อนให้แก่แอฟริกาในอดีต อีกทั้งยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของมาตรฐานสินค้าไทยประเภทอื่นๆโดยรวมอีกด้วย

     ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลด้านการค้า การลงทุนและกฏระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรปได้ที่ www.thaieurope.net