ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้เงินทุนสำรอง มุ่งเสริมการทูตเชิงเศรษฐกิจ

ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้เงินทุนสำรอง มุ่งเสริมการทูตเชิงเศรษฐกิจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 มี.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 2,428 view

ญี่ปุ่นเพิ่มการใช้เงินทุนสำรอง มุ่งเสริมการทูตเชิงเศรษฐกิจ


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
(
http://www.thaiceotokyo.jp หรือ
อีเมล์
[email protected], [email protected]


 

             รัฐบาลญี่ปุ่นใช้เงินทุนสำรองซื้อพันธบัตรยุโรปช่วยกรีซ ลดวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป และซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีน เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรอง  พร้อมทำความตกลง Currency Swap กับเกาหลีใต้และอินเดีย

             สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
ได้รายงานข่าวเศรษฐกิจที่น่าสนใจซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Daily Yomiuri ของญี่ปุ่น เพื่อให้นักธุรกิจไทยและผู้สนใจทุกท่านได้ติดตามกันดังนี้

             รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจเพิ่มการใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งการทูตเชิงเศรษฐกิจ (Economic Diplomacy) รวมทั้งเพื่อเยียวยาวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปและป้องกันการลดค่าเงินในประเทศแถบภูมิภาคเอเชีย โดยญี่ปุ่นเริ่มใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในการซื้อพันธบัตรที่ออกโดย EFSF (European Financial Stability Facility) มูลค่า 3.66 พันล้านยูโร เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่กรีซ และสมทบกองทุนของ IMF เพื่อป้องกันการถลำลึกของวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรป

             การใช้เงินสำรองของญี่ปุ่นมีเพิ่มขึ้นอีก โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ญี่ปุ่นได้ตัดสินใจซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีน เพื่อเพิ่มอำนาจในการเจรจาต่อรองกับจีน เนื่องจากจีนก็ได้ถือพันธบัตรญี่ปุ่นไว้ครอบครองด้วยเช่นกัน  และเพื่อป้องกันระบบการเงินและการลงทุนในภูมิภาค ญี่ปุ่นยังได้นำเงินทุนสำรองมาใช้ขยายฐานการเงินระหว่างประเทศระดับพหุภาคีระหว่างกลุ่มประเทศ ASEAN+3 ภายใต้ Chiang Mai Initiative และนำเงินดอลลาร์สหรัฐที่สำรองไว้มาให้ความช่วยเหลือแก่บริษัทผู้ส่งออกสาธารณูปโภคของญี่ปุ่นอีกด้วย

             นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้ทำความตกลงกับเกาหลีใต้เพื่อเพิ่มขยายวงเงินสำหรับ Currency Swap เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่สถาบันการเงินและนักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนจากเกาหลีใต้ เนื่องมาจากวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรปในปัจจุบัน รวมถึงทำความตกลงในลักษณะเดียวกันกับอินเดียในการเพิ่มเพดานสำหรับการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างกัน

             ทั้งนี้ หลายฝ่ายเห็นว่าการใช้เงินทุนสำรองที่มากขึ้นของญี่ปุ่น อาจทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาหนี้สูญหรือปัญหาความล่าช้าในการรับชำระหนี้ อย่างไรก็ดี ฝ่ายที่สนับสนุนก็มองว่าการใช้เงินสำรองดังกล่าวจะเป็นการช่วยพยุงตลาดการเงินและเพิ่มบทบาทด้านเศรษฐกิจของญี่ปุ่น