เปิดตลาดกล้วยไม้ไทยในแดนภารตะ

เปิดตลาดกล้วยไม้ไทยในแดนภารตะ

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ย. 2565

| 2,355 view

เปิดตลาดกล้วยไม้ไทยในแดนภารตะ


สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ
(อีเมล์
[email protected])



             ในบรรดาไม้ดอกไม้ประดับทั้งหลาย กล้วยไม้เป็นดอกไม้อีกหนึ่งชนิดที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก เพราะนอกจากความสวยงามอันอ่อนโยนน่าทะนุถนอมแล้ว กล้วยไม้ยังสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานอีกด้วย กล้วยไม้จึงเป็นดอกไม้ที่ใครต่อใครพากันหลงใหลและนิยมนำไปประดับตกแต่งกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ ดอกไม้เล็กๆอย่างกล้วยไม้ยังเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลด้วย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เล็งเห็นถึงลู่ทางการขยายตลาดดอกกล้วยไม้ของไทยในอินเดีย จึงได้ส่งบทวิเคราะห์เกี่ยวกับธุรกิจดอกกล้วยไม้ท้องถิ่นของอินเดีย พร้อมทั้งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดแดนภารตะมาให้ได้ติดตามกัน ดังนี้

             ประเทศอินเดียมีกล้วยไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติหลากหลายกว่า 1,000 สายพันธุ์กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ โดยเฉพาะเมืองโคชิน และเมืองติรุวันนันทะปูรัม ในรัฐเคราละ รัฐทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีการเพาะปลูกกล้วยไม้เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์มากที่สุด เรียกได้ว่าเป็นศูนย์กลางการจำหน่ายกล้วยไม้ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของอินเดีย อย่างไรก็ตาม กล้วยไม้จากท้องถิ่นเหล่านี้ยังมีข้อบกพร่องในเรื่องระบบฟาร์มเพาะเลี้ยงที่ทำให้คุณภาพของกล้วยไม้นั้นไม่คงที่

             นอกจากในรัฐทางตอนใต้แล้ว การจำหน่ายกล้วยไม้ยังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในเมืองที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เมืองเจนไน เมืองบังกาลอร์ เมืองมุมไบ กรุงนิวเดลี และเมืองไฮเดอราบัด เนื่องจากเมืองเหล่านี้เป็นศูนย์รวมของกลุ่มผู้ซื้อรายใหญ่ ทั้งโรงแรม ศาสนสถาน และบริษัทรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ โดยกลุ่มผู้ซื้อเหล่านี้จะสั่งซื้อดอกไม้จากผู้จำหน่ายท้องถิ่นเป็นหลัก

             สำหรับกล้วยไม้ส่งออกของไทยนั้นมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับดอกไม้ท้องถิ่นในอินเดียเนื่องจากสินค้าดอกไม้จากต่างประเทศจะต้องเสียภาษีนำเข้าและภาษีอื่นๆในอัตรารวมแล้วประมาณร้อยละ 28.3 ดังนั้น ยุทธวิธีทางการตลาดที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องคำนึงถึงเป็นสำคัญ โดยควรมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นผู้นำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศโดยตรงเพื่อจำหน่ายต่อให้กับลูกค้าที่เป็นธุรกิจโรงแรมหรือบริษัทรับจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยควรนำเสนอจุดแข็งของกล้วยไม้ไทยในเรื่องความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐานเดียวกันได้อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งมีกระบวนการผลิตอย่างระบบ ที่สามารถส่งมอบผลผลิตถึงมือลูกค้าได้ตามความต้องการตลอดทั้งปี