วันที่นำเข้าข้อมูล 3 พ.ย. 2554
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565
วิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งกระทบต่อเสถียรภาพค่าเงินรูปี
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมใบ
(อีเมล์ [email protected])
(ภาพจาก www.google.com)
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมุมไบ ส่งตรงข่าวที่คอเศรษฐกิจคงกำลังติดตามกันอย่างใกล้ชิด นั่นก็คือ เรื่องเสถียรภาพของค่าเงินรูปี ว่าจะสั่นคลอนจากผลกระทบพิษเศรษฐกิจโลกมากน้อยเพียงใดมาฝากกัน
การคงเสถียรภาพค่าเงินรูปี เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของอินเดียสามารถขยายตัวได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาเงินรูปีได้รับแรงกดดันและลดค่าลงอย่างรวดเร็วประมาณร้อยละ 10 จากระดับที่ประมาณ 44.50 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐมาอยู่ที่ประมาณ 49.50 รูปี ปรากฏการณ์ดังกล่าวได้สร้างความกังวลให้แก่ธนาคารกลางอินเดียและภาคธุรกิจอย่างมาก โดยนาย Subir Gokarn รองผู้ว่าการธนาคารกลางอินเดียได้ให้ความเห็นว่า ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการสะดุดของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ รวมทั้ง แสดงให้เห็นถึงสัญญาณของวิกฤตเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯได้เริ่มส่งผลกระทบต่ออินเดียแล้ว ซึ่งสะท้อนจากการอ่อนตัวของค่าเงินยูโร การชะลอตัวของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียและการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากตลาดทุนอินเดีย ทั้งที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา อินเดียได้ให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของอินเดียยังแข็งแกร่งอยู่ แต่ปัจจุบันอินเดียได้เริ่มยอมรับแล้วว่า การลงทุนจากต่างประเทศและการส่งออกของประเทศอาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ และยุโรป
สำหรับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินรูปี นั้น นอกจากปัญหาทุนสำรองระหว่างประเทศของอินเดียได้ลดลงเหลือต่ำกว่า 300 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในรอบหลายๆ เดือน อันเนื่องมาจากการลดลงของค่าเงินรูปีที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกแล้ว การชำระหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนก็มีส่วนด้วย ซึ่งในระยะหลังได้มีการกู้ยืมเงินระยะสั้นจากภายนอกประเทศค่อนข้างมากและในปีงบประมาณ 2554/2555 มีหนี้ระยะสั้นที่ถึงกำหนดต้องชำระต่ำกว่า 1 ปี อยู่ที่ประมาณ 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเทียบกับปีงบประมาณ 2553/2554 และ 2552/2553 ที่มีอยู่ประมาณ 65 และ 57 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ
ทั้งนี้การอ่อนค่าลงของเงินรูปีไม่ได้มีผลลบไปเสียหมด เพราะได้ช่วยส่งเสริมการส่งออกแต่ขณะเดียวกัน ก็ได้ทำให้มูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นด้วย โดยเฉพาะน้ำมันที่อินเดียนำเข้าประมาณ 2 ใน 3 ของความต้องการพลังงาน แต่ก็โชคดีที่ขณะนี้ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้อ่อนตัวลงบ้าง นอกจากนั้นได้ทำให้มูลค่าของสินค้าบริโภคอื่นๆ ที่อินเดียนำเข้าสูงขึ้นด้วย อาทิ ทองแดง นิกเกิลและหินถ่าน ส่วนผู้เสียผลประโยชน์อื่น คือ ผู้ผลิตรถยนต์ที่ต้องนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากต่างประเทศ ผู้นำเข้าสินค้าทุน ปูนซิเมนต์ และสายการบินที่ต้องสั่งซื้อเครื่องบินจากต่างประเทศ เป็นต้น ส่วนในด้านดีมีการประเมินกันว่าการอ่อนค่าของเงินรูปีจะทำให้ผลประกอบการของบริษัท IT เพิ่มขึ้น เนื่องจากขายให้แก่ต่างประเทศในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐส่วนนายธนาคารและนักวิเคราะห์มีความเห็นแตกต่างกันถึงแนวโน้มของค่าเงินรูปี โดย Standard Chartered และ Kotax Mahindra เชื่อว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีจะอ่อนตัวลงต่ำกว่า 50 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐไปจนถึงปีหน้า แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้ามาในตลาดทุนอินเดียเมื่อนักลงทุนรู้สึกว่าวิกฤตในยุโรปสามารถควบคุมได้และเงินรูปีจะกลับมาแข็งค่ายิ่งขึ้น ซึ่งนักวิเคราะห์ฯคาดการณ์ว่าธนาคารกลางอินเดียจะไม่ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินรูปีต่ำกว่า 50 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยจะเข้าแทรกแซงให้อยู่ช่วงระหว่าง 47-48 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐทั่งที่ผ่านมาธนาคารกลางอินเดียยืนยันเสมอว่า ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงิน โดยจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็ตาม แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน จากประสบการณ์ที่ธนาคารกลางอินเดียเคยทำให้ตลาดตื่นตระหนกเมื่อปล่อยให้เงินรูปีอ่อนค่าลงจากระดับ 38-39 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐ ไปอยู่ที่ระดับ 44-45 รูปีต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงระยะเวลาเพียง 2-3 สัปดาห์มาแล้ว
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)