สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ( IORA)

สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย ( IORA)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 19,924 view

สมาคมแห่งภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย
(Indian Ocean Rim Association : IORA)

ภูมิหลัง

            กรอบความร่วมมือ IORA จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 ประกอบด้วยสมาชิกในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย 18 ประเทศจาก 3 ทวีป ได้แก่ ออสเตรเลีย อินเดีย แอฟริกาใต้ เคนยา สิงคโปร์ โอมาน มอริเชียส อินโดนีเซีย มาดากัสการ์ มาเลเซีย โมซัมบิก ศรีลังกา แทนซาเนีย เยเมน บังกลาเทศ อิหร่าน สหรัฐอาหรับ   เอมิเรตส์ และไทย  และมีประเทศคู่เจรจา ได้แก่ อียิปต์ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน ฝรั่งเศส และกาตาร์ ปัจจุบัน ประธานคือ เยเมน (วาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี)
            ที่ประชุมระดับ รมต. (Council of Ministers) ครั้งที่ 1 ได้รับรองกฏบัตรของกรอบความร่วมมือ (Charter of IORA) ซึ่งระบุว่า IORA จะส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิก ผ่านการทำงานในลักษณะไตรภาคี คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ และยึดแนวทาง consensus-based, evolutionary และ non-intrusive และระบุเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของ IORA ว่า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกันในสาขาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูง สุดต่อประเทศสมาชิก ได้แก่ การอำนวยความสะดวกการค้า การส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ      การแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การท่องเที่ยว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ โดยที่ผ่านมามีโครงการความร่วมมือด้านการประมง การจัดสรรทรัพยากรทางทะเล การเดินเรือ และการป้องกันแก้ไขปัญหาโจรสลัดในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียด้วย
            การที่ไทยมีส่วนร่วมใน IORA เนื่องจากเล็งเห็นว่า ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง กล่าวคือมีพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่ภูมิภาคแอฟริกาใต้และแอฟริกาตะวันออก ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลีย รวมทั้งประเทศเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งรวมถึงประชากรประมาณ 2,500 ล้านคน มีมูลค่าการค้ารวมร้อยละ 10 ของการค้าโลกและเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจดังกล่าว ภูมิภาคนี้จะเป็นตลาดการค้าและแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญของไทยแห่งใหม่ รวมทั้งในระยะยาวประเทศไทยอาจจะเชื่อม IORA เข้ากับโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การเงินและการคมนาคมระหว่างประเทศในอนาคตได้ นอกจากนี้ IORA เป็นเวทีที่ไทยสามารถแสดงบทบาทในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศกำลัง พัฒนาได้ดีอีกเวทีหนึ่ง โดยไทยสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของไทยในเวทีอื่น ๆ เช่น ASEAN APEC และ BIMSTEC ได้ด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน ไทยมีภาระชำระค่าสมาชิกเป็นเงิน 16,500 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

กลไกการทำงาน

1. สภารัฐมนตรี IORA (Council of Ministers – COM) เดิมกำหนดให้ประชุมทุก 2 ปี ต่อมาเมื่อปี 2546 ประเทศสมาชิกเห็นชอบให้มีการประชุมทุกปี ที่ผ่านมามีการประชุมแล้วทั้งหมด 10 ครั้ง  การประชุมครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ก.ค. – 5 ส.ค. 2553 ที่กรุงซานา ประเทศเยเมน และอินเดียจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งต่อไป
2. คกก.เจ้าหน้าที่อาวุโส IORA (Committee of Senior Officials – CSO) มีหน้าที่ทบทวนการดำเนินงานตามมติของสภารัฐมนตรีฯ โดยประสานกับคณะทำงานภาควิชาการ ธุรกิจ และการค้าและการลงทุน ของ IORA โดยในการประชุมสภารัฐมนตรีฯ ครั้งล่าสุดได้เห็นชอบให้มีการจัดประชุม คกก. จนท.อาวุโส ปีละ 2 ครั้ง
3. สำนักเลขาธิการ IORA ตั้งอยู่ที่มอริเชียส มีหน้าที่ประสานงานกับประเทศสมาชิก และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานต่าง ๆ
4. คณะทำงาน 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) สภาธุรกิจ IORA (Indian Ocean Rim Business Forum – IORBF) (2) คณะทำงานภาควิชาการ IORA (Indian Ocean Rim Academic Group – IORAG) และ (3) คณะทำงานด้านการค้าและการลงทุน (Working Group on Trade and Investment – WGTI) ซึ่งคณะทำงานทั้งสามจะประสานกับ CSO และสำนักเลขาธิการ ในการพิจารณาดำเนินงานโครงการต่าง ๆ
5. National Focal Points ประเทศสมาชิกแต่ละประเทศแต่งตั้งหน่วยงานหนึ่งเป็นหน่วยงานประสานงานของ IORA เพื่อประสานงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการต่างๆ
6. คณะทำงานของหัวหน้า สอท. ประเทศสมาชิก IORA (Working Group of Heads of Missions – WGHM) ซึ่งเป็นการประชุมระหว่าง ออท. ของประเทศสมาชิกที่ประจำการอยู่ในแอฟริกาใต้ จัดขึ้นที่กรุงพริทอเรีย ที่ผ่านมามีการประชุมทั้งหมด 13 ครั้ง โดยสาระสำคัญการประชุมเป็นการรายงานและติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ของ IORA

ยุทธศาสตร์ของไทย/ประเด็นที่ไทยผลักดัน

  • IORA ควรเป็นการรวมกลุ่มแบบ open regionalism ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจ และยึดหลักฉันทามติในการตัดสินใจ
  • การดำเนินงานความร่วมมือไม่ก้าวหน้ามากเมื่อเทียบกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ เช่น GMS BIMSTEC ACMECS จึงต้องผลักดันให้การดำเนินการมีผลทางเศรษฐกิจเชิงรูปธรรมให้มากขึ้น
  • ไทยสามารถใช้กรอบนี้เพื่อผูกสัมพันธ์กับหลายประเทศในตะวันออกกลาง / แอฟริกา เพื่อใช้ประโยชน์ในการหาเสียงสนับสนุนในเวทีระหว่างประเทศได้

อุปสรรคในการดำเนินงาน

  ในช่วงที่ผ่านมา IORA ไม่มีความก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากการประสานงานระหว่างกลไกการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคเอกชน รวมถึงการประสานงานด้านข้อมูลข่าวสารระหว่าง สนง.เลขาธิการกับประเทศสมาชิกยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ จึงทำให้มีการกำหนดหัวข้อโครงการศึกษาซ้ำซ้อนและไม่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ไม่สามารถดำเนินการให้มีผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมได้ รวมทั้งประสบปัญหาด้านเงินทุน กอปรกับอิหร่านยังถูกคว่ำบาตรจากสหประชาชาติ อีกทั้งประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือนี้มาก นัก โดยมักจะไม่ส่งผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมการประชุมที่สำคัญ ทำให้โครงการความร่วมมือส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้า และหลายโครงการต้องเลื่อนออกไปเนื่องจากความพร้อมของประเทศเจ้าภาพ หรือการขาดความสนใจของประเทศสมาชิกที่จะเข้าร่วม

ผลการประชุมสภารัฐมนตรี ครั้งที่ 13  1 พ.ย. 56  ที่ออสเตรเลีย

1. การปราบปรามโจรสลัด ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านกลไก Indian Ocean Naval Symposium  

2. การประมง รับรองแผนปฏิบัติการ Fisheries Support Unit  

3. การค้าและการลงทุน ออสเตรเลียเสนอให้ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ  IORA Business Travel Card และเห็นควรให้พัฒนาขีดความ สามารถของ SMEs  

4. การจัดการภัยพิบัติ ให้มีความร่วมมือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการภัยพิบัติ 

5.  ความร่วมมือวิชาการ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ให้ดำเนินการตามร่างธรรมนูญของ University Student Mobility Program และให้สมาชิกสนับสนุนกิจกรรมของศูนย์วิทยาศาสตร์และการถ่ายโอนเทคโนโลยี IORA

6. การเปลี่ยนชื่อกรอบความร่วมมือ เห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อเป็น Indian Ocean Rim Association (IORA)

7. ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น เห็นชอบให้สำนักเลขาธิการติดตามผลการสมัครเป็นผู้สังเกตการณ์ใน UNESCO FAO UNCTAD African Union Indian Commission ของ IORA

 

*************************************************************

             
กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
มกราคม 2557