สามเหลี่ยมมรกต ( Emerald Triangle )

สามเหลี่ยมมรกต ( Emerald Triangle )

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 40,552 view

ความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต (Emerald Triangle Cooperation)

 

1.  ภูมิหลัง

 

1.1  สามเหลี่ยมมรกตเป็นความร่วมมือระหว่าง กัมพูชา ลาว และไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ติดกันของสามประเทศ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ มิ.ย. 2543 โดยข้อเสนอของกัมพูชา เป็นความร่วมมือในลักษณะสามเหลี่ยมเศรษฐกิจในพื้นที่ที่สามประเทศมีพรหมแดน ร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

 

1.2 พื้นที่ความร่วมมือในปัจจุบัน ครอบคลุม 7 จังหวัด/แขวง ได้แก่ จ.อุบลราชธานีและศรีสะเกษของไทย จ.พระวิหาร อุดรมีชัย และ สตึงเตร็งของกัมพูชา และแขวงสาละวันและจำปาสักของ สปป.ลาว

 

1.3  พื้นที่สามเหลี่ยมมรกตมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะอารยธรรมขอม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค

 

2.  การประชุมที่ผ่านมา

2.1  การประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2546 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว  และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2552 ที่ จ. เสียมราฐ กัมพูชา

2.2  การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2546 ที่เมืองปากเซ สปป.ลาว และ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2552 ที่ จ. เสียมราฐ กัมพูชา

2.3  การประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยม มรกต ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 15-16 ธ.ค. 2546 ที่ จ. อุบลราชธานี  ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17-18 ธ.ค. 2547 ที่ จ. เสียมราฐ กัมพูชา  ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 15-17 ธ.ค. 2548 ที่เมืองจำปาสัก สปป. ลาว  ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2-4 พ.ค. 2550 ที่ จ.อุบลราชธานี และครั้งล่าสุด ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2551 ที่เมืองสีหนุวิลล์

3. เอกสารความร่วมมือที่สำคัญ

ใน การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2546 ที่เมือง ปากเซ (นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.กต. เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย โดยมีนายสนธยา คุณปลื้ม รมว.ท่องเที่ยวฯ เข้าร่วมด้วย) ประเทศสมาชิกได้รับรองปฏิญญาปากเซว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว พื้นที่สามเหลี่ยมมรกต มีสาระสำคัญ ดังนี้  

   1) จัดทำแผนปฏิบัติการของความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

   2) กำหนดพื้นที่ความร่วมมือใน 3 ประเทศ

   3) สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นในการพัฒนาการ  ท่องเที่ยว

   4) จัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านการท่องเที่ยว

   5) ส่งเสริมให้มีการพัฒนาความร่วมมือไปสู่ระดับผู้นำในอนาคต และขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมสาขาอื่น ๆ ที่สอดคล้องกัน

 

4. ผลการประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในกรอบ สามเหลี่ยมมรกตที่สำคัญ

4.1  ที่ประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศฯ ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2546 ที่ จ.อุบลฯ ได้เห็นชอบแผนปฎิบัติการด้านการท่องเที่ยวในกรอบสามเหลี่ยมมรกต ประกอบด้วย  (1) การอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางภายในสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งรวมทั้งการเปิดจุดผ่านแดนสากล การตรวจลงตราเดียว (ACMECS Single Visa ระหว่างไทย-กัมพูชา) (2) การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว (3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาด และ (5) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว

4.2  ต่อมาที่ประชุมคณะทำงานระหว่างประเทศฯ ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2547 ที่ จ.เสียมราฐ มีมติเพิ่มประเด็นหารือในแผนปฏิบัติการฯ ได้แก่ (6) ข้อพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม  (7) การมีส่วนร่วมของชุมชน และ(8) การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและการต่อต้านการลักลอบค้าวัตถุโบราณ

 

5.  ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน : การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ ครั้งที่ 2

 

กัมพูชา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมรัฐมนตรีต่าง ประเทศ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2–3 ต.ค. 2552 ที่ จ. เสียมราฐ ภายใต้หัวข้อ “The Emerald Triangle: Cooperation for Green Development” โดยที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกตและ การดำเนินการตามปฏิญญาปากเซ พร้อมทั้งยืนยันเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกต่อกรอบความร่วมมือนี้ โดย สปป. ลาวและกัมพูชา ได้แสดงความขอบคุณที่ไทยให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

 

ที่ ประชุมมีความเห็นว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่สามเหลี่ยมมรกตเป็นปัจจัยพื้นฐานสนับสนุน การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การค้า และการพัฒนาเศรษฐกิจ และที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมด้านการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐาน การส่งเสริมการค้า และการเกษตร เพิ่มเติมจากสาขาการท่องเที่ยวด้วย เนื่องจากความร่วมมือในสาขาดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยว ในการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน และขจัดปัญหาความยากจนในภูมิภาค  พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้คณะเจ้าหน้าที่อาวุโส ยกร่างแผนปฏิบัติการครอบคลุมสาขาความร่วมมือดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นในความร่วม มือสามเหลี่ยมมรกต ศึกษาเส้นทางต่าง ๆ ที่มีอยู่ และเสนอเส้นทางที่ประเทศสมาชิกต้องการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงสถานที่ ท่องเที่ยวในภูมิภาค และเห็นความจำเป็นของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาและองค์การให้ความช่วยเหลือ ระหว่างประเทศในการช่วยสนับสนุนให้การดำเนินงานมีความคืบหน้าต่อไป

กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กุมภาพันธ์ 2555

เอกสารประกอบ

cooperation-20120418-155701-339401.doc
cooperation-20120418-155729-052321.pdf
cooperation-20120418-155752-044945.doc
cooperation-20120418-155822-724436.doc
cooperation-20120418-155930-860299.doc
cooperation-20120418-155947-083482.doc
cooperation-20120418-160024-906805.doc