ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ( ACMECS )

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ( ACMECS )

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 63,343 view

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ระหว่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ ไทย และเวียดนาม (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้งห้าประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล

การประชุมระดับผู้นำ ACMECS มีขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 ที่เมืองพุกาม เมียนมาร์ ซึ่งผู้นำประเทศสมาชิกได้ลงนามในปฏิญญาพุกามเพื่อจัดตั้งกรอบความร่วมมือ ACMECS ปัจจุบัน ACMECS ดำเนินความร่วมมือใน 8 สาขา ได้แก่

1. การอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน 2. การเกษตร 3. อุตสาหกรรมและพลังงาน 4. การเชื่อมเส้นทางคมนาคม

5. การท่องเที่ยว 6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 7. สาธารณสุข และ 8. สิ่งแวดล้อม

 

การประชุมระดับผู้นำที่ผ่านมา

- การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 1 ที่เมืองพุกาม พม่า ปี 2546

- การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพฯ ปี 2548

- การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 3 ที่กรุงฮานอย ปี 2551

- การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 4 ที่กรุงพนมเปญ ปี 2553

- การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 5 ที่เวียงจันทน์ ปี 2556

 

ตัวอย่างโครงการที่สำคัญภายใต้กรอบความร่วมมือ ACMECS

- การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Transport Linkages)

   กัมพูชา: เส้นทาง R48 (เกาะกง-สแรอัมเปิล) / R67 (สะงำ-อันลองเวง-เสียมราฐ)

   สปป.ลาว: ปรับปรุงสนามบินวัดไต / เส้นทางสายกูดู่ จ.อุตรดิตถ์-ปากลาย แขวงไชยะบุลี / สะพานข้ามแม่น้ำเหือง / เส้นทาง R3 (ห้วยทราย-หลวงน้ำทา) / เส้นทางห้วยโก๋น-ปากแบ่ง / สะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่ง ที่ 3  (นครพนม-คำม่วน) / สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) / เส้นทางรถไฟหนองคาย-ท่านาแล้ง-เวียงจันทน์
        

  เมียนมาร์: สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 / เส้นทางแม่สอด-เมียวดี-เชิงเขาตะนาวศรี-กอกะเร็ก

การอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Facilitatation) ส่งเสริมการใช้เงินสกุลท้องถิ่นในการค้าชายแดน การยกระดับด่าน การจัดตั้งเมืองคู่แฝดชายแดน (Sister Cities)

- การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ซึ่ง กต. โดย สพร.  ดำเนินการฝึกอบรม สัมมนา ให้ทุนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยแก่ประเทศสมาชิก ACMECS ในด้านที่เกี่ยวข้องกับสาขาความร่วมมือภายใต้ ACMECS อาทิ การเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม และสาธารณสุข

- การท่องเที่ยว (Tourism) ได้แก่ การจัดทำความตกลงตรวจลงตราเดียว (ACMECS Single Visa) ระหว่างไทย - กัมพูชา เมื่อเดือน ธ.ค. 2550 เป็นโครงการนำร่อง ระหว่าง 2 ประเทศสมาชิก ซึ่งมีกาีรบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2555

- การเกษตร (Agriculture) ได้แก่ การจัดทำแผนการลงทุนโครงการเกษตรแบบมีสัญญากับประเทศเพื่อนบ้าน และการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับสปป.ลาว ว่าด้วยความร่วมมือในการส่งเสริมการทำเกษตรแบบมีสัญญา เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2556 ในระหว่างการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 5 ที่เวียงจันทน์ สปป.ลาว

- สาธารณสุข (Public Health) โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการตามแผนความร่วมมือในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อต่าง ๆ และการให้ความช่วยเหลือในการยกระดับคุณภาพการรักษาพยาบาลพื้นฐานแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

 

กลไกการทำงาน ACMECS ของฝ่ายไทย

-   คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) พิจารณากลั่นกรอง เสนอแนะนโยบาย แผนงานและโครงการความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ

-   กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) โดยกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานหลักในการประสาน การดำเนินการความร่วมมือ ตลอดจนการจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส รัฐมนตรี และผู้นำ ACMECS โดยมีสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) เป็นหน่วยงานให้ความช่วยเหลือทางวิชาการตามโครงการต่างๆ ในกรอบ ACMECS แก่ประเทศสมาชิก

-   สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (สพพ.) ให้การช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการในการให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน

- เอกสารการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2556 ณ เวียงจันทน์ สปป.ลาว สามารถดาวน์โหลดได้จากลิ้งค์ด้านล่าง

 

ท่านสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งรายชื่อโครงการภายใต้ความร่วมมือ ACMECS ได้ จากเว็บไซต์ทางการของ ACMECS 

www.acmecs.org และ www.acmecsthai.org

*****************************************

ปรับปรุงข้อมูลครั้งล่าสุด มีนาคม 2556

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ
โทร  (02) 203-5000 ต่อ 14155
โทรสาร (02) 643-5240

เอกสารประกอบ

cooperation-20130320-171608-146840.pdf
cooperation-20130320-171630-161169.pdf