การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ( UNCTAD )

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ( UNCTAD )

วันที่นำเข้าข้อมูล 1 พ.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 119,855 view
 

 

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา

United Nations Conference on Trade and Development (UNCTAD)

           1.ภูมิหลัง

  • การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) เป็นองค์กรภายใต้สหประชาชาติที่จัดตั้งขึ้นในปี ๒๕๐๗ (ค.ศ. ๑๙๖๔) โดยไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้ง ทำหน้าที่ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างประเทศในประเด็นด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา
  • UNCTAD ได้รับอาณัติให้ดำเนินงานตาม ๓ เสาหลัก ได้แก่ (๑) การสร้างฉันทามติ (Consensus -building) (๒) การทำวิจัยเชิงนโยบาย (Policy-oriented Analysis) และ (๓) การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค (Technical Cooperation) แก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ในมิติด้านการพัฒนา การค้า การลงทุน และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นตัวกลางในการประสานนโยบายภายในประเทศกับการดำเนินงานระหว่างประเทศให้สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ ในการประชุมระดับรัฐมนตรี UNCTAD
    ครั้งที่ ๑๔ เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๙ ณ กรุงไนโรบี ประเทศสมาชิกเห็นพ้องกันว่า UNCTAD จะต้องให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและประเทศที่มีความจำเป็นสูงสุด เพื่อบรรลุ SDGs
  • ปัจจุบัน UNCTAD มีสมาชิก ๑๙๔ ประเทศจากทุกภูมิภาคของโลก ทั้งยุโรป อเมริกาเหนือ ลาตินอเมริกา แอฟริกา และเอเชีย มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่นครเจนีวา และมีสำนักงานย่อยตั้งอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และกรุงแอดดิส อาบาบา เอธิโอเปีย
  • เลขาธิการ UNCTAD คนปัจจุบันได้แก่ Dr. Mukhisa Kituyi (ดร. มูคิสะ คิทูยี) ชาวเคนยา เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๖ (วาระถัดจาก ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์) และได้รับการขยายวาระการดำรงตำแหน่งเป็นวาระที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๐ และมีกำหนดครบวาระในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
  • UNCTAD จัดการประชุมระดับรัฐมนตรีขึ้นทุก ๔ ปี โดยมีธรรมเนียมปฏิบัติให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมโดยหมุนเวียนกันไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา ลาตินอเมริกา ยุโรป จนถึงขณะนี้ UNCTAD ได้มีการประชุมมาแล้ว ๑๔ ครั้ง (ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม UNCTAD ครั้งที่ ๑๐ ในปี ๒๕๔๓ หรือ ค.ศ. ๒๐๐๐)
  • นอกจากการประชุมระดับรัฐมนตรีแล้ว UNCTAD ยังจัดการประชุมอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น
    • การประชุม World Investment Forum (WIF) ซึ่งเป็นเวทีหารือระดับสูงระหว่างผู้แทนภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และเอกชน ในประเด็นท้าทายที่สำคัญและประเด็นอุบัติใหม่ด้านการลงทุน โดยจัดเป็นประจำทุก ๒ ปี
    • การประชุม Global Commodities Forum (GCF) ซึ่งเป็นเวทีหารือแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยจัดเป็นประจำทุก ๒ ปี
    • การประชุม UN Commission on Science and Technology for Development (CSTD) ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการหารือถึงแนวทางการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อกระตุ้นการพัฒนา ซึ่งจะจัดเป็นประจำทุกปี

             2.สถานะล่าสุด

  • ในปีนี้ (๒๕๖๑) UNCTAD มีกำหนดจะจัดการประชุม WIF ครั้งที่ ๖ ที่นครเจนีวา ระหว่างวันที่ ๑๗ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๑ ภายใต้หัวข้อ Investing in Sustainable Development ซึ่งจะให้ความสำคัญกับประเด็นท้าทายระดับโลกต่อการลงทุนในยุคโลกาภิวัตน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ โดยมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาข้อริเริ่มที่เน้นถึงวิธีการแก้ไขปัญหา และการสร้างหุ้นส่วนระดับโลก เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งสำหรับทุกคน โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วม พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment of Thailand หรือ BOI) จะร่วมจัดนิทรรศการประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศไทยด้วย

             3.บทบาทของไทยใน UNCTAD

  • ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี UNCTAD ครั้งที่ ๑๐ ในปี ๒๕๔๓ (ค.ศ. ๒๐๐๐) ระหว่างวันที่ ๑๒ – ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓ ซึ่งมีผลลัพธ์การประชุม คือ Bangkok Declaration ที่แสดงฉันทามติของประเทศสมาชิก UNCTAD เกี่ยวกับผลของกระแสโลกาภิวัตน์ที่มีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของโลก และแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองร่วมกันที่จะดำเนินนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศเพื่อทำให้ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา สามารถได้รับประโยชน์จากกระบวนการโลกาภิวัตน์ในด้านการค้า การลงทุน และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบของกระบวนการโลกาภิวัตน์ได้
    • ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ UNCTAD ต่อเนื่อง ๒ วาระ รวม ๘ ปี ตั้งแต่วันที่
      ๑ กันยายน ๒๕๔๘ ถึง ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๖ ระหว่างการดำรงตำแหน่ง ดร.ศุภชัยฯ มีบทบาทสำคัญใน
      การกระตุ้นให้ UNCTAD และประเทศสมาชิกหันมาพิจารณาการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอย่างรอบด้านมากขึ้น โดยสนับสนุนการเจริญเติบโตพร้อมกับการพัฒนา (Growth with Development) และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปนโยบายและโครงสร้างของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคทั้งในระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศให้สอดคล้องกัน
    • ไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิก UN Commission on Science and Technology for Development (CSTD) ติดต่อกัน ๒ วาระ ระหว่างปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๑ และปี ๒๕๖๒ – ๒๕๖๕  
    • นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ดำรงตำแหน่ง Vice-President of UNCTAD Trade and Development Board (TDB) ระหว่างวันที่
      ๑๑ กันยายน ๒๕๖๐ – ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑ และได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้ทำหน้าที่ประธานการประชุม 66th TDB Executive Session ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๕ – ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญในการวางแผนงานทั้งหมดของ UNCTAD สำหรับปี ๒๕๖๑ รวมถึงกำหนดกลไกการดำเนินการเพื่อติดตามผลลัพธ์ของการประชุมระดับรัฐมนตรี UNCTAD ครั้งที่ ๑๔ ด้วย

             4.ความร่วมมือระหว่างไทยกับ UNCTAD ที่สำคัญ

  • การจัดตั้งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (สคพ.) หรือ International Institute
    for Trade and Development (ITD) เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ในประเทศไทย เพื่อเป็นศูนย์กลาง
    ในการเพิ่มและเสริมสร้างขีดความสามารถ รวมทั้งทักษะในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้แก่บุคลากรของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสนับสนุนการกำหนดและดำเนินนโยบายให้สามารถรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรี ผ่านการสัมมนา ฝึกอบรม และวิจัย โดยถือเป็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่งในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี UNCTAD ครั้งที่ ๑๐
    ของไทย
  • ความร่วมมือด้านการลงทุน UNCTAD ให้ความร่วมมือกับไทยโดยให้คำแนะนำในการจัดทำร่าง
    ความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (ฉบับมาตรฐาน) ในช่วงปี ๒๕๕๔ เพื่อให้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านการคุ้มครองการลงทุนของสากล พร้อมได้ส่งผู้เชี่ยวชาญมาเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับร่างความตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน ตลอดจนเรียนรู้แนวทางในการพัฒนากลไกการใช้การระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างนักลงทุนกับรัฐ (Alternative Dispute Resolution หรือ ADR) และการจัดทำนโยบายป้องกันข้อพิพาท (Dispute Prevention Policy หรือ DPP) อยู่เป็นระยะ ๆ  นอกจากนี้ ในช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประธาน G77 ยังได้ร่วมมือกับ UNCTAD จัดการประชุม G77 Meeting on Investment for Sustainable Development เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เมืองพัทยา เพื่อหารือถึงแนวทางความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืนในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
  • ความร่วมมือในภาคการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ร่วมกับ UNCTAD ในการจัดประชุม United Nations Sustainable Stock Exchange (SSE) Regional Dialogue for South East Asia เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อย่างยั่งยืน โดย ตลท. เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้าร่วม SSE และมีบทบาทในการส่งเสริมการหารือระดับโลกเกี่ยวกับการลงทุนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน
  • ความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ระหว่างปี ๒๕๕๖ – ๒๕๕๘ UNCTAD ได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำการศึกษา Science, Technology and Innovation Policy (STIP) Reviews of Thailand เพื่อศึกษาและทบทวนนโยบายในด้านดังกล่าวของไทย พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการเสริมสร้างระบบนวัตกรรมให้มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาสังคม
  • การเผยแพร่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในต่างประเทศ สถาบันมั่นพัฒนา และ คผถ. ณ
    นครเจนีวา ร่วมกับ Division on Globalization and Development Strategies ได้จัดการอภิปรายในช่วงอาหารกลางวันเพื่อเผยแพร่แนวคิดตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๘ โดยมี
    ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและเลขาธิการอาเซียนเป็นผู้บรรยายพิเศษ ร่วมด้วยผู้แทนจาก UNCTAD และ UN Research Institute for Social Development (UNRISD)
    ร่วมบรรยาย และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เลขาธิการ UNCTAD ได้เข้าร่วมการอภิปรายดังกล่าวและกล่าวเปิดงาน

             5.ท่าทีไทยภายใต้กรอบ UNCTAD

  • ไทยส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานไทยกับ UNCTAD ในการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านต่าง ๆ และใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ ผลงานวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของ UNCTAD  
    ในการพัฒนาการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นมุมมองเพื่อประโยชน์สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ซึ่ง UNCTAD มีบทบาทคล้ายคลึงกับ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

 

* * * * * * * * * * * * * * * *

 

                                   กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กันยายน ๒๕๖๑

 

                                                                       

• ข้อมูลภูมิหลัง

• ภารกิจหลักของอังค์ถัด

• ระบบและโครงสร้างการทำงานของอังค์ถัด

 

<< ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังค์ถัด >>

• ไทยกับอังค์ถัด

บทบาทและหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ

 

<< การประชุมอังค์ถัด >>
• การประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 10

• การประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 11

• การประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 12

• การประชุมอังค์ถัด ครั้งที่ 13

 

<< รายงานอังค์ถัดที่น่าสนใจ >>
• รายงานของเลขาธิการอังค์ถัดต่อที่ประชุมอังถัด ครั้งที่ 12 เรื่อง “โลกาภิวัตน์เพื่อการพัฒนา: โอกาสและความท้าทาย”

• รายงานของ Eminent Persons Panel (EPP) ของอังค์ถัด

 


อัพเดทข้อมูล มีนาคม 2556