นโยบายการค้าเสรีกับการค้าที่เป็นธรรม

นโยบายการค้าเสรีกับการค้าที่เป็นธรรม

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 18,511 view

นโยบายการค้าเสรีกับการค้าที่เป็นธรรม

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา
http://canberra.thaiembassy.org/ หรืออีเมล์ [email protected]

 

   (ภาพจาก www.google.com)

             หลายท่านคงคุ้นหูกันดีกับนโยบายการค้าเสรี ซึ่งตามทฤษฏีแล้ว หมายถึง การค้าระหว่างประเทศที่รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงปล่อยให้เอกชนดำเนินการค้าได้ อย่างอิสระเสรี รวมทั้งมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ การไม่มีกำแพงภาษี การไม่มีข้อจำกัดทางการค้าและการมีสินค้าแลกเปลี่ยนระหว่างกัน แต่ปัจจุบันกลับเป็นที่ถกเถียงกันว่า นโยบายการค้าเสรีนั้น มีความยุติธรรมจริงหรือไม่ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา จึง ขอส่งตรงข้อมูลดีๆ มาไกลจากออสเตรเลียเกี่ยวกับนโยบายการค้าของออสเตรเลีย (บรรยายโดย The Honorable Dr. Craig Emerson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของออสเตรเลีย) มาฝากกัน

              ประเด็นแรก คือ การค้าเสรีกับการค้าที่เป็นธรรม (Free Trade VS Fair Trade) โดยมีใจความสำคัญคือ การค้าเสรีอาจไม่ได้นำมาซึ่งการค้าที่เป็นธรรมเสมอไป ตัวอย่างเช่น การที่ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงงานต่ำ ทำให้สินค้าได้เปรียบเรื่องต้นทุนการผลิตต่อสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตใน ออสเตรเลียที่มีค่าแรงงานขั้นต่ำอยู่ที่ 15.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง ดังนั้น การใช้ภาษีนำเข้าสูงสำหรับสินค้าดังกล่าวจะทำให้เกิดความยุติธรรมต่อสินค้า ที่ผลิตในออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ในอนาคต ออสเตรเลียคงต้องปรับตัวไปสู่การเป็นประเทศที่เน้นนวัตกรรม และการพัฒนาทักษะแรงงานในระดับสูงต่อไป นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการต่างๆ ก็ส่งทั้งผลดีและผลเสีย เนื่องจากในสังคมมีทั้ง ผู้ผลิตและผู้บริโภค ดังนั้น การใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าหรือการใช้มาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีเพื่อการบริโภค (Consumption tax) และภาษีสินค้า(GST) อาจก่อให้เกิดผลดีต่อผู้ผลิต ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน

             ประเด็นต่อมา ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เรื่องการค้าที่เป็นธรรมโดยผ่านองค์กรควบคุมกฎเกณฑ์ทางการค้าโลก GATT และ WTO ทั้งนี้ การก่อตั้ง GATT และ WTO มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า การค้าจะดำเนินไปบนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ทางการค้าที่เป็นธรรม แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฏเกณฑ์การค้าที่เป็นธรรมยากที่จะเกิดขึ้นได้ ดังจะเห็นได้จากการเจรจารอบโดฮาที่ยาวนานและไม่บรรลุผลสำเร็จ ทั้งนี้ออสเตรเลียประสงค์สนับสนุนการเจรจารอบโดฮาให้แล้วเสร็จ โดยได้นำเสนอแผนงานในกรอบเจรจารอบโดฮาในการประชุม G20 ที่เมือง Cannes รวมทั้ง ได้เสนอการเปิดเสรีสำหรับสินค้าจากต่างประเทศด้อยพัฒนา 48 ประเทศ เข้าสู่ออสเตรเลียโดยปราศจากภาษีและการจำกัดการนำเข้า ซึ่งความสำเร็จจากการเจรจารอบโดฮาจะทำให้ GDP ของโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 152 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

             ปัจจุบัน ออสเตรเลียต้องการกระชับและขยายขอบเขตการผนึกรวมเศรษฐกิจกับประเทศเอเชียโดย ได้จัดทำ Asian Century White Paper Project โดยสร้างความพร้อมให้แก่ออสเตรเลียในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาค เอเชีย โดยเน้นการสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย กล่าวคือ การค้าจะต้องก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนที่ยากจนที่สุดของโลก รวมถึงแรงงานออสเตรเลียในอุตสาหกรรมการส่งออกและอุตสาหกรรมการนำเข้า โดยการปรับปรุงกฎระเบียบในการต่อต้านการทุ่มตลาดโดยผู้ส่งออกจากต่างประเทศ ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นด้วย เนื่องจากผู้ประกอบการของออสเตรเลียต้องประสบปัญหาการทุ่มตลาดสินค้าที่นำ เข้าจากต่างประเทศ ทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันและเป็นสาเหตุต้องให้ปิดกิจการและเลิก จ้างแรงงาน

             เมื่อเร็วๆนี้ รัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้ประชุมกันและหาข้อสรุปในการปฏิรูปกฎหมายต่อต้านการ ทุ่มตลาดของออสเตรเลีย โดยผ่านมาตรการต่างๆได้แก่ การเพิ่มจำนวนบุคคลากรเพื่อทำให้มั่นใจว่าการสอบสวนการทุ่มตลาดจะสามารถได้ ข้อสรุปได้โดยเร็ว และการปรับปรุงช่องทางในการเข้าถึงระบบการทุ่มตลาดสำหรับผู้ประกอบการของ ออสเตรเลีย เป็นต้น นับเป็นความพยายามและมุ่งมั่นของออสเตรเลียที่จะสร้างสมดุลของการค้าเสรีและ ความเป็นธรรมให้ดำเนินควบคู่กันไป โดยกระทบต่อผู้ประกอบการออสเตรเลียน้อยที่สุด ขณะเดียวกันการสร้างโอกาสให้แก่ประเทศต่างๆ ที่ต้องการส่งสินค้าไปยังออสเตรเลียด้วย