ข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับ G20

ข้อมูลภูมิหลังเกี่ยวกับ G20

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 พ.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 33,474 view

กลุ่ม ๒๐ (G20)

  1. ภูมิหลัง
  • G20 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๒ (ค.ศ. ๑๙๙๙) เป็นกรอบการหารืออย่างไม่เป็นทางการเพื่อสนองตอบ
    ต่อวิกฤตการเงินในช่วงปลายทศวรรษ ๑๙๙๐ โดยการหารือมุ่งเน้นใน ๓ ประเด็นหลัก คือ (๑) เศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเงินโลก (๒) การเพิ่มความแข็งแกร่งของโครงสร้างทางการเงิน และ (๓) การส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
  • สมาชิกของ G20 ประกอบด้วยผู้แทนสหภาพยุโรป และอีก ๑๙ ประเทศ ได้แก่ ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ๘ ประเทศ (ได้แก่ สหราชอาณาจักร แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย) และประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ ๑๑ ประเทศ (ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ และตุรกี) ทั้งนี้ ขนาดเศรษฐกิจของสมาชิก G20 คิดเป็นร้อยละ ๙๐ ของเศรษฐกิจโลก และมีจำนวนประชากรรวมกันประมาณ ๒ ใน ๓ ของโลก
  • เดิม G20 เป็นการประชุมระดับ รมว. คลัง และผู้ว่าการธนาคารกลาง โดยมีผู้อำนวยการ IMF และประธานธนาคารโลก เข้าร่วมโดยตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม วิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี ๒๕๕๑ ส่งผลให้มีการยกระดับการประชุม G20 เป็นระดับผู้นำ โดยจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อเป็นเวทีหลัก (premier forum) สำหรับผู้นำประเทศสมาชิกในการหารือประเด็นเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
  • ประธาน G20 มาจากการหมุนเวียนระหว่างประเทศสมาชิก โดยมีประเทศที่จะดำรงตำแหน่งประธานและเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับผู้นำ G20 ในอนาคตอันใกล้ ดังนี้
    • ปี ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘) กรุงบัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา
    • ปี ๒๕๖๒ (ค.ศ. ๒๐๑๙)  นครโอซากา ญี่ปุ่น
    • ปี ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐)   กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย
  • ตามธรรมเนียมปฏิบัติ ประเทศเจ้าภาพจะสามารถเชิญแขกเข้าร่วมการประชุมได้จำนวนหนึ่ง โดยที่ผ่านมา จะเชิญผู้นำประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธาน (๑) อาเซียน (๒) African Union (AU) (๓) New Partnership for Africa’s Development (NEPAD) (๔) Global Governance Good (3G) และ (๕) สเปน ในฐานะแขกรับเชิญถาวร (Permanent Guest Invitee) รวมถึงเจ้าภาพอาจเชิญผู้นำจากประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีเพิ่มเติมอีก ๒ ประเทศ

 

  1. บทบาทของไทยใน G20
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เคยเข้าร่วมการประชุมผู้นำ G20 ในฐานะ
    ประธานอาเซียน ๒ ครั้ง ได้แก่ การประชุมผู้นำ G20 ครั้งที่ ๒ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙) และการประชุมผู้นำ G20 ครั้งที่ ๓ ที่นครพิตส์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายน ๒๕๕๒ อนึ่ง ในช่วงปี ๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก มีการจัดการประชุมผู้นำ G20 ปีละ ๒ ครั้ง
  • เมื่อปี ๒๕๕๙ (ค.ศ. ๒๐๑๖) จีนเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๕๙ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ – ๕ กันยายน ๒๕๕๙ ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน จีนได้เชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกลุ่ม ๗๗ เข้าร่วมเป็นกรณีพิเศษ โดยเป็นครั้งแรกที่ G20 เชิญประธาน G77 เข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำ  ซึ่งไทยได้แสดงศักยภาพในการเป็นสะพานเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างทั้งสองกลุ่ม และสะท้อนวิสัยทัศน์และความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี

 

  1. การประชุมผู้นำ G20 ที่ผ่านมา
  • การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๕๙ (ครั้งที่ ๑๑) จัดขึ้น ณ นครหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อหลักว่า “Towards an Innovative, Invigorated, Interconnected and Inclusive World Economy” เพื่อสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในช่วงนั้นที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ นับจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อปี ๒๕๕๑ (ค.ศ. ๒๐๐๘) แต่ก็ยังคงต้องการแรงกระตุ้นใหม่ ๆ เพื่อให้การเติบโตอยู่ในระดับที่ G20 ตั้งเป้าไว้ กล่าวคือ ร้อยละ ๒ ภายในปี ๒๕๖๑ (ค.ศ. ๒๐๑๘)   ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้ได้รับการกล่าวถึงว่า เป็นการประชุม
    สุดยอดด้านการพัฒนา (Development Summit) โดยนอกจากจะเน้นความร่วมมือด้านการกอบกู้ความเชื่อมั่นและสนับสนุนการเติบโตและการพัฒนาของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นประเด็นที่ G20 ให้ความสำคัญอยู่แล้ว จีนในฐานะเจ้าภาพ ยังได้เพิ่มประเด็นเรื่องการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ให้เป็นวาระสำคัญของ
    การหารือ อีกทั้งยังได้เชิญแขกรับเชิญที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมจำนวนมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งได้รับ
    การตอบรับเป็นอย่างดีจากประเทศสมาชิก G20 และประชาคมระหว่างประเทศ
  • การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๖๐ (ครั้งที่ ๑๒) จัดขึ้น ณ นครฮัมบูร์ก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ ๗ – ๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ภายใต้หัวข้อหลักว่า “Shaping an Interconnected World” และมีประเด็นหลักของการหารือ ๓ เรื่อง ได้แก่ (๑) การสร้างความต้านทานต่อการเปลี่ยนแปลง (Building Resilience) (๒) การส่งเสริมการพัฒนายั่งยืน (Improving Sustainability) และ (๓) การแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน (Assuming Responsibility) โดยเยอรมนีประสบความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยและหาข้อสรุปท่าทีที่ต่างกันของแต่ละประเทศ โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดตลาดให้มากขึ้นทั้งทางด้านการค้าและการลงทุน และการต่อสู้กับการกีดกันทางการค้าและการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม แต่ไม่สามารถมีข้อสรุปในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ โดยสหรัฐฯ ยังยืนยันที่จะถอนตัวจาก Paris Agreement ในขณะที่ประเทศที่เหลือย้ำว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยกเลิกได้ (Irreversible)

 

  1. การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๖๑
  • การประชุมผู้นำ G20 ประจำปี ๒๕๖๑ (ครั้งที่ ๑๓) มีกำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน - ๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ณ กรุงบัวโนสไอเรส สาธารณรัฐอาร์เจนตินา ภายใต้หัวข้อหลักว่า “Building Consensus for Fair and Sustainable Development” (นับเป็นการประชุม G20 ครั้งแรกในทวีปอเมริกาใต้ และครบรอบ ๑๐ ปี ของการจัดการประชุมผู้นำ G20)
  • ประเด็นหลักของการหารือในปีนี้ มี ๓ ประเด็น ได้แก่
    • อนาคตของงาน: การส่งเสริมศักยภาพของประชากร (The future of work: Unleashing people’s potential) ซึ่งอาร์เจนตินาให้ความสำคัญกับการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดผลกระทบในด้านการผลิต การเจริญเติบโต งาน และความไม่เท่าเทียม โดยเน้นย้ำว่า นโยบายในยุคนี้จะต้องไม่ก่อให้เกิดการกีดกันทางเพศ ทำให้สังคมแตกแยก หรือการตอบโต้ที่รุนแรง และช่วยลดช่องว่างทางการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งความไม่เท่าเทียมในแต่ละประเทศ และจะให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวน
      การจ้างงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งการสร้างเครื่องมือและทักษะให้แก่คนที่กำลังหางานทำ และคนที่งานกำลังถูกแทนที่ด้วยการใช้เครื่องจักร

ทั้งนี้ “การศึกษา” จะเป็นประเด็นหลักของการหารือในหัวข้อนี้ โดยจะให้ความสำคัญกับการลงทุน
ในด้านการฝึกอบรมและทักษะในการดำรงชีพและการทำงาน รวมทั้งการปรับใช้นโยบายทางการคลัง
หรือการปฏิรูปโครงสร้าง เพื่อสร้างโอกาสและทักษะให้แก่ประชาชนในการพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง

  • โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา: การระดมเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อลดช่องว่างในโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure for development: Mobilizing private resources to reduce the infrastructure deficit) โดยอาร์เจนตินามองว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนา และการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยส่งเสริมการเติบโตและความสามารถในการผลิต สาธารณูปโภค บริการด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ สุขอนามัยขั้นพื้นฐาน การไหลเวียนของพลังงาน รวมทั้งความเชื่อมโยงทางดิจิทัล อย่างไรก็ตาม     ในปัจจุบัน ปริมาณการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เพียงพอ จึงต้องมีการระดมเงินทุนจากภาคเอกชน  ซึ่งจำเป็นต้องมีความร่วมมือในระดับระหว่างประเทศเพื่อสร้างบรรยากาศที่สามารถดึงดูดการลงทุนจากเอกชน ในโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ อาทิ การแก้ปัญหาช่องว่างทางด้านข้อมูล (data gaps) และการสร้างเครื่องมือทางการเงินที่รองรับการลงทุนรูปแบบดังกล่าว
  • อนาคตมีอาหารอย่างยั่งยืน: การปรับปรุงดินและการเพิ่มผลผลิต (A Sustainable food future: Improving soils and increasing productivity) โดยอาร์เจนตินาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร   ในฐานะที่เป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนและสันติภาพ แต่โลกกำลังเผชิญกับการลดลงของพื้นที่ทำเกษตรเนื่องจากปัญหาการสึกกร่อนของดิน (soil erosion) ดังนั้น โดยที่ G20 มีพื้นที่ทำการเกษตรคิดเป็น ร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของโลก และมีมูลค่าการค้าอาหารและสินค้าทางการเกษตรถึงเกือบ ร้อยละ ๘๐ ของการค้าโลก เวที G20 จึงมีความสำคัญในการหารือเรื่องการบริหารจัดการดินอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการส่งเสริมการประสานงานระหว่างประเทศที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล หน่วยงานระหว่างประเทศ สมาคมการเกษตร และภาคประชาสังคม)
  • การต่อยอดประเด็นหารือจากการประชุมครั้งที่ผ่านมา อาร์เจนตินาเน้นย้ำความสำคัญกับการสร้าง
    ความต่อเนื่องในประเด็นที่เคยหารือในการประชุมครั้งที่ผ่านมา ได้แก่ (๑) การส่งเสริมบทบาทสตรี (๒) การต่อสู้กับการคอร์รัปชั่น (๓) การเสริมสร้างการกำกับดูแลด้านการเงิน (๔) การดำเนินการเพื่อระบบการเงินที่เข้มแข็งและยั่งยืน (๕) การพัฒนาระบบภาษีที่เป็นสากลและมีความเท่าเทียม (๖) ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน
    (๗) การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (๘) การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและสะอาด
  • นอกจากผู้นำของกลุ่ม G20 แล้ว ในปีนี้ อาร์เจนตินายังเชิญประเทศ Guest Countries เข้าร่วม ได้แก่ (๑) สเปน (permanent guest) (๒) ชิลี (๓) เนเธอร์แลนด์ (๔) สิงคโปร์ (ประธาน ASEAN) (๕) รวันดา (ประธาน AU) (๖) เซเนกัล (ประธาน NEPAD) และ (๗) จาเมกา (ประธาน CARICOM)
  • การดำเนินการที่สำคัญในการประชุม G20 ประจำปี ๒๕๖๑
    • ด้านอนาคตของงาน ได้แก่ การจัดตั้ง joint Meeting ระหว่าง Education Working Groups และ Employment Working Groups ซึ่งนับเป็นการจัดหารือร่วมเป็นครั้งแรกในการประชุม G20 เพื่อรับมือกับประเด็นอนาคตของงาน ซึ่งผลจากการหารือร่วมนี้จะใช้เป็นพื้นฐานสำหรับ การประชุม Joint G20 Meeting of Ministers of Education and Employment ในเดือนกันยายน ๒๕๖๑
    • ด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนา โดยที่ประชุมรัฐมนตรีด้านต่างประเทศของ G20 ได้หารือถึงแนวทางการกระตุ้นการลงทุนของเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการดำเนินการตาม G20 Compact with Africa เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่ภาคเอกชนมีบทบาทนำ และพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแก่การลงทุน
    • ด้านอนาคตที่มีอาหารอย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำ proposal ในด้านอนาคตที่มีอาหารอย่างยั่งยืน โดยที่ประชุม Meeting of Agricultural Chief Scientists of the G20 (MACS-G20) ได้หารือถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการผลิตทางด้านการเกษตร การบริหารจัดการดิน และการปรับปรุงพันธุกรรม
    • ด้านอื่น ๆ เช่น (๑) การจัดตั้ง Climate Sustainability Working Group เพื่อรับมือกับปัญหา
      การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และกำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการในระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการระดมทุนเพื่อดำเนินการต่อประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (๒) การจัดทำ G20 Energy Ministers Communiqué โดยรัฐมนตรีด้านพลังงานของ G20 ซึ่งมีเนื้อหาสนับสนุนการดำเนินการของ G20 ในด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน เพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด รวมทั้งระบบทางด้านพลังงานที่มีความยืดหยุ่นและโปร่งใส และความมั่นคงทางด้านพลังงาน โดยที่ประชุมรัฐมนตรีด้านพลังงานของ G20 ได้รับทราบการจัดทำ “Energy Access and Affordability Voluntary Action Plan for Latin America and the Caribbean” ซึ่งได้ผลักดันโดยสาธารณรัฐอาร์เจนตินาในฐานะประธาน G20 ทั้งนี้ G20 Energy Ministers Communiqué จะถูกเสนอต่อที่ประชุมผู้นำ G20 ต่อไป

 

**************************

 

กองนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กันยายน ๒๕๖๑