การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวเนื่อง

การประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ และการประชุมที่เกี่ยวเนื่อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 เม.ย. 2557

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565

| 7,935 view

        เมียนมาร์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ ๓ (Bay of Bengal Initiative Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation- BIMSTEC Summit) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ณ เนปิดอว์ เมื่อวันที่ ๒ – ๔ มีนาคม ๒๕๕๗ ภายใต้หัวข้อ “หุ้นส่วนเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและความมั่งคั่ง (Partnership for Harmony and Prosperity)” โดยมีผู้นำจากบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีให้เป็นผู้แทนพิเศษ(Special Envoy)เข้าร่วมในการประชุมระดับผู้นำ
        ไทยได้ย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนในภูมิภาค BIMSTEC ไทยทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งภายใต้กรอบความร่วมมือในสาขาต่างๆ ของ BIMSTEC รวมทั้งการเตรียมรับกับโอกาส ความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก ผู้แทนพิเศษได้ผลักดันประเด็นการเจรจากรอบความตกลงการค้าเสรี BIMSTEC และการเชื่อมโยงในภูมิภาค ซึ่งจะเปิดประตูการค้า การลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น รวมทั้งประเด็นการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีสีเขียว เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและทั่วถึง
        ไทยได้เน้นถึงความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้ (๑) การความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (๒) ได้เสนอแนะการส่งเสริมเทคโนโลยีและการถ่ายทอดความรู้ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข (๓) การส่งเสริมบทบาทของการประชุมกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ (BIMSTEC Business Forum) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาและลดช่องว่างในการพัฒนาในภูมิภาค  (๔) การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคในการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ  (๕) ยินดีกับการจัดตั้งศูนย์ BIMSTEC ด้านอากาศและภูมิอากาศที่อินเดีย รวมทั้งส่งเสริมให้ศูนย์ดังกล่าวทำงานร่วมกับศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center—ADPC) ในประเทศไทยอีกด้วย  และ (๖) ได้แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับปัญหาการสิ้นเปลืองด้านอาหารที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะระหว่างขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาอาหาร ซึ่งไทยยินดีที่จะแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิชาการเกษตรและการเก็บรักษาอาหารซึ่งจะช่วยในการสร้างความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค
         ในการประชุมผู้นำฯ ครั้งนี้ ประเทศสมาชิก BIMSTEC ได้ลงนามในตราสารการจัดตั้งสำนักเลขาธิการถาวร BIMSTEC ที่กรุงธากา บังกลาเทศ และได้ยินดีที่ได้มีการแต่งตั้งนาย Sumith Nakadala   ชาวศรีลังกา เป็นเลขาธิการคนแรก การจัดตั้งสำนักเลขาธิการของ BIMSTEC จะช่วยส่งเสริมสมรรถนะในการขับเคลื่อนการทำงานการประสานงานการดำเนินการและการติดตามกิจกรรมต่างๆ ของ BIMSTEC
          ผู้นำ BIMSTEC ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อจัดตั้งคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC และศูนย์ปฏิบัติการอุตสาหกรรมวัฒนธรรม BIMSTEC (Memorandum of Understanding on the Establishment of the BIMSTEC Cultural Industries Commission (BCIC) and BIMSTEC Cultural Industrial Observatory (BCIO) ที่ภูฎาน บันทึกความร่วมมือเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ BIMSTEC ด้านอากาศและภูมิอากาศ (Memorandum of Association Among BIMSTEC Member Countries concerning Establishment of a BIMSTEC Centre for Weather and Climate) ที่อินเดีย และรับรองร่างปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ ๓ ซึ่งแสดงเจตนารมณ์และความพยายามในการดำเนินการให้บรรลุตามปฏิญญากรุงเทพฯเมื่อปี ๒๕๔๐
          นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกได้รับทราบและทบทวนการดำเนินความร่วมมือใน ๑๔ สาขา อาทิ การค้าการลงทุน พลังงาน ขนส่งและการสื่อสาร เป็นต้น ในส่วนของไทยเป็นประเทศนำ (lead country) ใน ๓ สาขา ได้แก่ ประมง (fishery) สาธารณสุข (public health) และการติดต่อเชื่อมโยงระหว่างประชาชน (people-to-people contact)
          ในสาขาประมง กรมประมงของไทยได้จัดโครงการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชพันธุ์น้ำและการประมงอย่างยั่งยืนในช่วง ๘ ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะจัดการฝึกอบรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
          ในประเด็นความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนและการส่งเสริมความตระหนักรู้เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือ BIMSTEC กระทรวงการต่างประเทศและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดการประชุมระหว่างประเทศเรื่องการเชื่อมโยงใน BIMSTEC และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนขึ้นที่เชียงใหม่ในปี ๒๕๕๕ รวมทั้งกำหนดจัดตั้งเครือข่ายของหน่วยงานด้านการวิจัย (Think-Tank) ในปี ๒๕๕๗
          ไทยแสดงบทบาทสำคัญในการเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี BIMSTEC การพัฒนาด้านเกษตรกรรมและเกษตรกรรมอินทรีย์ การส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปดูได้ที่ http://www.thirdbimstecsummit.gov.mm/
          BIMSTEC เป็นกรอบความร่วมมือซึ่งริเริ่มโดยไทยเมื่อปี ๒๕๔๐ ตามวิสัยทัศน์มุ่งตะวันตก (look west) ของไทยและมุ่งตะวันออก (look east) ของอินเดียและเอเชียใต้ โดยมีจุดมุ่งหมายในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม BIMSTEC มุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือผ่านความช่วยเหลือต่าง ๆ ในรูปแบบ เช่น การฝึกอบรม การค้นคว้าวิจัยในประเด็นด้านการพัฒนา เป็นต้น
          การประชุมระดับผู้นำครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่กรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่สองจัดที่กรุงนิวเดลีเมื่อปี ๒๕๕๑ ส่วนการประชุมระดับผู้นำครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในช่วงที่เนปาลประธาน
          ประเทศกลุ่ม BIMSTEC มีพัฒนาการและเป็นกลุ่มความร่วมมือภูมิภาคที่แข็งแกร่ง และมีศักยภาพด้วย มีประชากรกว่า ๑ ใน ๔ ของประชากรโลก รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า ๒,๔๖๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึง ๖.๔% ในปี ๒๕๕๕

 

 


กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือแ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
เมษายน ๒๕๕๗

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ