กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเยือนสหรัฐฯ นำผู้ประกอบการนวัตกรรมชีวภาพเข้าร่วมงาน “BIO World Congress on Industrial Biotechnology 2019”

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเยือนสหรัฐฯ นำผู้ประกอบการนวัตกรรมชีวภาพเข้าร่วมงาน “BIO World Congress on Industrial Biotechnology 2019”

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,398 view

            กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเยือนสหรัฐฯ นำผู้ประกอบการนวัตกรรมชีวภาพเข้าร่วมงาน “BIO World Congress on Industrial Biotechnology 2019” ระหว่างวันที่ 8 - 11 ก.ค. 2562 ณ เมืองดิมอยน์ รัฐไอโอวา เพื่อร่วมแสดงผลงานนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพบนเวที Start Up Stadium พร้อมเผยแพร่สินค้านวัตกรรมและประชาสัมพันธ์ศักยภาพการลงทุนด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพในไทย ตลอดจนแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวโน้มภาคเศรษฐกิจชีวภาพของโลกและสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานของสหรัฐ

            วีรกา มุทิตาภรณ์ ผู้อำนวยการกองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศเผยว่า สหรัฐเป็นผู้นำโลกในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นสาขาที่ไทยสามารถแสวงหาความร่วมมือกับสหรัฐได้ ส่วนรัฐไอโอวาเป็นฐานการผลิตพืชเกษตร โดยเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และมีอุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูป ผลิตเครื่องจักรด้านเกษตรกรรม จึงเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำที่สร้างรายได้หลักในด้านการเกษตรที่มีความสำคัญต่อสหรัฐ

              งาน ” BIO World Congress on Industrial Biotechnology”จัดขึ้นเป็นปีที่ 17ประกอบด้วยการแสดงสินค้านวัตกรรมและการสัมนาด้านเศรษฐกิจฐานชีวภาพซึ่งในปีนี้ให้ความสำคัญและมีจุดเน้น”ความยั่งยืนทางชีวภาพ” อาทิ การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ การพัฒนาความยั่งยืนทางด้านอาหาร การพัฒนาด้านพันธุศาสตร์  การพัฒนานวัตกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืน การพัฒนาสารเคมีทดแทนเพื่อความยั่งยืน การพัฒนานวัตกรรมอาหารสุขภาพ และการศึกษาผลกระทบในอนาคตทางชีววิทยาสังเคราะห์ด้านอาหาร  ด้านการเกษตร และวัสดุศาสตร์ เป็นต้น ปีนี้มีภาคธุรกิจเข้าร่วม 572 บริษัท จาก 35 ประเทศทั่วโลก  

              การเข้าร่วมงาน BIO World Congress  นี้เป็นโอกาสของไทยในหลายด้าน เช่น ได้นำเสนอสินค้านวัตกรรมของไทย และนำเสนอผลงานนวัตกรรมมบนเวที Start Up Stadium ผลงานนวัตกรรมของไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในงาน มีทั้ง บริษัท ภีดู จำกัด (นาโนเซลลูโลส) บริษัท ไทย เอนโท ฟู้ด จำกัด (ผงโปรตีนจากจิ้งหรีด) บริษัท ไทยธรรม อัลไลแอนซ์ จำกัด (ผลิตภัณฑ์ชะลอวัย) บริษัท เบอร์รี่เทค จำกัด (ผลิตภัณฑ์คอลลาเจน) และบริษัท ไข่สุข จำกัด (ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากไข่ขาว) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสร่วมฟังการสัมมนาเพื่อรับทราบแนวโน้มไบโอเทค ของโลกและสหรัฐ เพื่อปรับใช้และต่อยอดความรู้ด้านเศรษฐกิจชีวภาพในไทย รวมทั้งพัฒนาสินค้าสาขาเศรษฐกิจชีวภาพและขยายตลาดในสหรัฐได้

             นอกจากการเข้าร่วมงานดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศได้นำสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและผุ้ประกอบการไทยร่วมสร้างเครือข่ายความร่วมมือ พบหารือและเยี่ยมชมหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนสหรัฐ เพื่อผลักดันไทยให้เชื่อมโยงและพัฒนานวัตกรรมที่สำคัญกับรัฐไอโอวา และนครชิคาโก อาทิ Bayer , Curteva Agriscience , IOWA Agritech Accelerator  และ Chicago Connectory 

             ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ถึงการดำเนินโครงการและพัฒนานวัตกรรมด้านการเกษตร ตลอดจนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระบบดิจิทัลในการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร การสร้างศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการนวัตกรรมสู่การประสบความสำเร็จทางธุรกิจ เปิดช่องนำความรู้ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ไปพัฒนาไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจฐานชีวภาพ

            ผู้อำนวยการกองสนเทศเศรษฐกิจย้ำว่า การบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติปีนี้เป็นปีที่ 2 ได้ตอบโจทย์การสร้างความเชื่อมโยงกับต่างประเทศ และสร้างผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมให้สามารถออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตอบสนองเป้าหมายร่วมกันในการสร้าง "Innovation Diplomacy"ให้เป็นจริง

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ