วันที่นำเข้าข้อมูล 3 ก.พ. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เจาะลึกเศรษฐกิจอาร์เจนตินาปี 54 และแนวโน้มปี 55
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส
อีเมล์ [email protected] , [email protected]
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส ส่งตรงรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจที่น่าสนใจของประเทศอาร์เจนตินา ซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในลาตินอเมริกา ในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา พร้อมกับวิเคราะแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 มาฝากคอเศรษฐกิจทุกท่านให้ได้ติดตามกัน ดังต่อไปนี้
สำนักงานสถิติอาร์เจนตินา (INDEC) รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 9.3 ในขณะที่ Economist Intelligence Unit EIU ประเมินตัวเลข GDP ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 8.4
ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาในปี 2554 ได้แก่ การอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราว่างงานที่ลดลงและอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น และการขยายการลงทุน (Gross Fixed Investment) ของอุตสาหกรรมในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 17.2 โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ ตลอดจนการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไป ในขณะเดียวกัน การส่งออกมีการปรับตัวขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 เล็กน้อยเพียงร้อยละ 5 จากไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ เมื่อปี 2554 ดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้า + ดุลการบริการ) ของอาร์เจนตินาเริ่มจะติดลบเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินเมื่อปี 2544 เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้ามีสัดส่วนมากกว่าการส่งออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อาร์เจนตินาได้เปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศน้อยลง ในขณะเดียวกัน อาร์เจนตินาก็เผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกนอกประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากนักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนตุลาคม 2554
ถึงแม้การติดลบของดุลบัญชีเดินสะพัดมิใช่เป็นเรื่องที่ร้ายแรงในขณะนี้ แต่การไหลออกของเงินส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าเงินเปโซ และสภาวะเงินเฟ้อในประเทศด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ) และมาตรการกีดกันการนำเข้าต่างๆ
อีกทั้ง ในปี 2554 อาร์เจนตินาเผชิญกับสภาวะเงินเฟ้อ ที่สูงถึงประมาณร้อยละ 9.5 โดยมีปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นคือ การใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นก่อนการเลือกตั้ง และเงินเปโซที่อ่อนค่าลง เนื่องจากการไหลออกเงินสกุลเงินต่างประเทศ
ในปี 2555 การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจอาร์เจนตินามีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง รัฐบาลประเมินว่า GDP จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5 ในขณะที่ ธนาคารโลกประเมินว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 3.7 ตามรายงาน Outlook and Perspectives of the World Economy ล่าสุดของธนาคารโลก
โดยรัฐบาลอาร์เจนตินามีแนวโน้มที่จะออกมาตรการต่างๆ มาควบคุมการค้าและการเงินระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะสร้างอุปสรรคที่เกินควรให้กับภาคเอกชน และจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางการค้ากับนานาประเทศ รวมถึงประเทศกลุ่ม MERCOSUR ด้วยกันเอง
อุปสรรคสำคัญในปี 2555 ยังคงเป็นปัญหาของสภาวะเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ มาตรการ unorthodox ที่รัฐบาลใช้ในการควบคุมเงินเฟ้อและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา จะเริ่มมีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดน้อยลง และสภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัวลง ดังนั้น รัฐบาลอาจมีความจำเป็นต้องใช้เงินจากกองทุนบำนาญ (Private Pension Fund) มากยิ่งขึ้น ซึ่งรัฐบาลโอนมาจาก ANSES เมื่อปี 2551
นอกจากนี้ อาร์เจนตินากำลังเผชิญกับสภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะในเขต Pampas ซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกที่สำคัญที่สุดของประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตด้านการเกษตร มีปริมาณลดลง โดยเฉพาะข้าวโพดและถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ในขณะเดียวกัน การส่งออกก็จะลดลงเช่นกัน ดังนั้น หลายฝ่ายคาดว่าบัญชีเดินสะพัดน่าจะติดลบอีกในปีนี้
ถึงแม้ ประธานาธิบดี Cristina Fernandez de Kirchner และรัฐบาลจะสามารถควบคุมปัจจัยภายในประเทศได้ทั้งหมดโดยการออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อควบคุมการค้าและการเงิน ตลอดจนราคาสินค้า แต่สภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2555 ย่อมจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาด้วย
ในขณะเดียวกัน ภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนทุกภาคส่วน เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ปัญหาดังกล่าวมิได้สร้างแรงกดดันกับรัฐบาลมากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่และนายจ้างสามารถขึ้นอัตราค่าจ้างให้กับกลุ่มแรงงานต่างๆได้ตามสภาวะเงินเฟ้อ อย่างไรก็ดี หากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาต้องชะลอตัวลงในปี 2555 ประเด็นดังกล่าวจะเริ่มสร้างปัญหามากยิ่งขึ้นให้กับรัฐบาล
สำหรับการค้าขายกับไทยนั้น ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2554 สินค้าส่งออกจากประเทศไทย ไปอาร์เจนตินาปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 647 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยนำเข้าสินค้าจากอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 22 ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 582 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ไทยได้เปรียบดุลการค้าอาร์เจนตินาอยู่ประมาณ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)