เปิดโลกเศรษฐกิจลาตินอเมริกา

เปิดโลกเศรษฐกิจลาตินอเมริกา

วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,897 view

เปิดโลกเศรษฐกิจลาตินอเมริกา


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก

ชิลีเป็นประเทศสมาชิก OECD ที่มีช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนมากที่สุด


      องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศสมาชิกองค์การฯ มีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในชิลีและเม็กซิโก
      ในกรณีของชิลี ร้อยละ 10 ของประชากรที่มีฐานะร่ำรวยที่สุดของประเทศมีรายได้มากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรที่มีฐานะยากจนที่สุดถึง 27 เท่า ทำให้ชิลีกลายเป็นประเทศสมาชิก OECD ที่มีช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยกับคนจนสูงที่สุดในหมู่สมาชิก OECD ขณะที่สมาชิกอื่นๆ มีช่องว่างของรายได้ระหว่างร้อยละ 10 ของประชากรที่ฐานะร่ำรวยที่สุดกับร้อยละ 10 ของประชากรที่มีฐานะยากจนที่สุดประมาณ 9 เท่าเท่านั้น
      รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่า ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980หรือปี 2523 เป็นต้นมา รายได้ของชาวชิลีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 1.7 ต่อปีจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 2000 โดยกลุ่มคนรวยมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 1.2 แต่คนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 ต่อปี อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมชิลีที่ยังคงต้องการนโยบายสาธารณะซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างจริงจัง

ที่มา www.americaeconomia.com : 6 ธันวาคม ค.ศ.2011

 

รัฐบาลคอสตริกาพร้อมเจรจาจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจกับญี่ปุ่น


     รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศคอสตาริการะบุระหว่างการเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการว่า รัฐบาลคอสตาริกาพร้อมจะเจรจาจัดทำความตกลงด้านเศรษฐกิจ (Economic Association Agreement) เพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุนและความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ โดยได้ยื่นร่างความตกลงดังกล่าวให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศย้ำว่า คอสตาริกาให้ความสำคัญกับการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศผู้นำในห่วงโซ่การผลิตของโลกนโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับความพยายามในการเพิ่มความหลากหลายของตลาดส่งออกและแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศของคอสตาริกา ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อเศรษฐกิจของคอสตาริกาลงได้
     ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2554 คอสตาริกาส่งออกสินค้าไปญี่ปุ่นมูลค่า 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นแล้ว 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ที่มา www.elfinancierocr.com วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2011

 

นับตั้งแต่ปี 2557 ความช่วยเหลือที่คอสตาริกาได้รับจากสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนรูปแบบเป็นความร่วมมือ


     สภายุโรปแถลงว่า นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นไป โครงการเพื่อการพัฒนาต่างๆ ซึ่งคอสตาริกาดำเนินการร่วมกับสหภาพยุโรปจะเปลี่ยนรูปแบบจากการให้ความช่วยเหลือโดยสหภาพยุโรปไปเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างทั้งสองฝ่ายแทน โดยนอกจากคอสตาริกาแล้ว สภายุโรปยังได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบความช่วยเหลือดังกล่าวกับประเทศที่มีรายได้ระดับกลางอื่นอีกรวม 19 ประเทศ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบความร่วมมือดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้การพัฒนาโครงการระหว่างทั้งสองฝ่ายมีความสร้างสรรค์มากขึ้น โดยไม่มุ่งเน้นการให้เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
     สำหรับงบประมาณของโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการมูลค่ารวม 35 ล้านยูโรโดยประมาณ ซึ่งครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การศึกษา การบูรณาการระดับภูมิภาค ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงความมั่นคงสาธารณะ จะไม่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
     อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคอสตาริกาให้ความเห็นต่อนโยบายดังกล่าวของสหภาพยุโรปว่า ความช่วยเหลือสำหรับประเทศรายได้ระดับกลางยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจโลก ซึ่งคอสตาริกาจะได้หารือกับประเทศอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อแสวงหาท่าทีร่วมกันต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวของสหภาพยุโรปต่อไป


ที่มา www.elfinancierocr.com : วันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 2011