ชิลีเดินหน้า FTA กับมาเลเซียและเวียดนาม

ชิลีเดินหน้า FTA กับมาเลเซียและเวียดนาม

วันที่นำเข้าข้อมูล 5 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 3,332 view

ชิลีเดินหน้า FTA กับมาเลเซียและเวียดนาม


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซานติอาโก
(
www.thaibizchile.org หรืออีเมล์ [email protected])


 
ภาพจาก www.google.com



             ประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้ถือเป็นตลาดใหม่ที่จะมีศักยภาพในการขยายโอกาสด้านการค้าและการลงทุนของไทยในอนาคต โดยเฉพาะชิลี ที่เป็นประเทศใหญ่ มีรายได้สูง และยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่สมบูรณ์ โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับชิลี มีรวมกว่า 818.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2553 และชิลียังเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในอเมริกาใต้รองจากบราซิล และอาร์เจนตินาด้วย  เข้าใจว่า ผู้ประกอบการไทยกำลังอยู่ระหว่างรอลุ้นผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี หรือ  FTA ระหว่างไทยกับชิลี ว่าได้ดำเนินการไปถึงไหนแล้ว

             แต่ในวันนี้ ขอนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวการทำ FTA ระหว่างชิลีกับสองประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างมาเลเซีย และเวียดนาม ตามที่ได้รับรายงานจาก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซันติอาโก มาให้อัพเดทกันก่อน ว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้ทำอะไรคืบหน้าไปแล้วบ้าง และชิลีเขามองผลประโยชน์กับการทำ FTA กับประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างไร

             เริ่มกันที่ประเทศมาเลเซียก่อน  ชิลีมองว่าการทำความตกลง FTA กับมาเลเซียน่าจะเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของชิลีได้อย่างดี ด้วยทั้งจำนวนผู้บริโภคกว่า 64 ล้านคน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา และทำเลที่ตั้งที่สามารถเป็นประตูสู่ตลาดเอเชียได้ นอกจากนั้นแล้ว ชิลียังหวังว่าความสัมพันธ์อันใกล้ชิดนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในฐานะที่มาเลเซียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญรายหนึ่งของโลกด้วย

             อันที่จริง ชิลีกับมาเลเซียได้ลงนามความตกลง FTA มาแล้วตั้งแต่ปี 2553 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นไป หลังผ่านกระบวนการพิจารณาเห็นชอบจากรัฐสภาชิลี และเมื่อ FTA ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ สินค้าร้อยละ 99 ที่ชิลีส่งออกไปจำหน่ายในมาเลเซียจะไม่ต้องเสียภาษี โดยเฉพาะผลไม้สด เนื้อสัตว์ ปลา เนยแข็ง ลวดทองแดง ฯลฯ ขณะที่ร้อยละ 95 ของสินค้าที่มาเลเซียส่งออกมาจำหน่ายในชิลีก็ไม่ต้องเสียภาษีเช่นกัน อาทิ รถยนต์ รถบัส โทรศัพท์มือถือ ผลไม้เมืองร้อน ยางพารา น้ำมันปาล์ม เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ

             ประเทศต่อมาก็คือ เวียดนาม โดยทั้งชิลีและเวียดนามได้ลงนามความตกลง FTA ระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคที่สหรัฐฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2554 และกำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาชิลีเร็วๆนี้  FTA ฉบับนี้ครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า 9,000 รายการ โดยสินค้าชิลีที่จะได้รับประโยชน์ในการเข้าสู่ตลาดเวียดนาม ได้แก่ ปลาป่น ปลาแซลมอน ปลาเทราต์ ไวน์ น้ำมันปลา องุ่นสด เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น ขณะที่สินค้าออกของเวียดนามที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ รองเท้า เสื้อผ้า ปลาแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องเรือน ของตกแต่งบ้าน กาแฟ เป็นต้น

             นาย Jorge Bunster ปลัดกระทรวงการต่างประเทศชิลี ย้ำถึงความสำคัญของ FTA ทั้งสองฉบับ และความตกลงการค้าอื่นๆที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจชิลีลงได้ โดยขณะนี้ ชิลีได้ลงนาม FTA กับ 60 ประเทศทั่วโลก รวม 23 ฉบับ เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้ชิลีสามารถจำหน่ายสินค้าให้กับประชากรโลกถึงร้อยละ 63 อย่างไรก็ตาม FTA ทั้งสองฉบับครอบคลุมเฉพาะการเปิดเสรีการค้าสินค้าเท่านั้น ขณะที่การเปิดเสรีด้านการลงทุนและการบริการ คู่ภาคีจะได้ทำความตกลงกันในระยะที่สองต่อไป

             การที่ชิลีทำ FTA กับประเทศเพื่อนบ้านของไทยย่อมมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของประเทศไทย เนื่องจากสินค้าส่งออกของทั้งสองประเทศที่ส่งไปชิลีนั้นใกล้เคียงกับไทยมาก อย่างไรก็ดี ชิลีได้เลือกเจรจา FTA กับไทยในรูปแบบ Comprehensive คือครอบคลุมทั้งการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในสาขาที่มีศักยภาพและสนใจร่วมกัน แสดงให้เห็นว่า ชิลีเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับธุรกิจชิลีในระยะยาว ดังนั้น คงเป็นการดีที่ฝ่ายไทยจะเจรจาจัดทำความตกลง FTA ให้บรรลุผลโดยเร็ว เพื่อให้สินค้าไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและรักษาสถานภาพความสัมพันธ์ในฐานะคู่ค้าและพันธมิตรที่สำคัญของชิลีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 

**************************