โอกาสการลงทุนในอาร์เจนตินา
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส
อีเมล์ [email protected] หรือ [email protected]

(ภาพจาก www.google.com)
กลุ่มนักธุรกิจไทยควรพิจารณาและหันมาสนใจที่จะลงทุนในอาร์เจนตินามากกว่าการส่งสินค้ามาขายเพียงอย่างเดียว จากรายงาน Global Competitiveness Report 2011-2012 ของ World Economic Forum ซึ่งจัดทำขึ้นโดยใช้เกณฑ์ชี้วัดต่างๆ ภายใต้ 12 เสาหลัก พบว่า อาร์เจนตินาปรับตัวดีขึ้นด้านสาธารณสุขและการศึกษา โดยเฉพาะจำนวนนักเรียนที่ลงทะเบียนในระดับอุดมศึกษา (Tertiary Education Enrollment) อยู่ในอันดับที่ 21 และเกณฑ์ชี้วัดด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะคุณภาพของสถาบันวิจัยในประเทศ (Quality of Scientific Research Institutions) อยู่ที่อันดับที่ 41 ซึ่งสูงกว่าประเทศต่างๆในลาตินอเมริกาและประเทศไทยด้วย ซึ่งเกณฑ์ชี้วัดทั้งสองดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าอาร์เจนตินามีบุคลากรที่มีการศึกษาสูงอยู่จำนวนมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ความสามารถในการแข่งขันของอาร์เจนตินาในภาพรวมอยู่ที่อันดับ 85 จาก 142 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ปรับขึ้น 2 อันดับจากปีก่อนหน้านี้ ปัจจุบัน รัฐบาลอาร์เจนตินาได้มีการดำเนินนโยบายส่งเสริมการผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า (import substitution) อย่างชัดเจนและมีมาตรการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี(Non Tariff Barriers-NTBs) เพื่อกีดกันคู่แข่งจากต่างประเทศมากยิ่งขึ้น สาขาธุรกิจที่ฝ่ายไทยมีศักยภาพที่จะลงทุนในอาร์เจนตินา ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการบริหารจัดการโรงแรม ร้านอาหารไทย และนวดแผนไทย ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในกลุ่มชาวอาร์เจนตินาตลอดจนการแปรรูปและผลิตผลไม้กระป๋อง โดยอาจจะเริ่มการลงทุนกับนักธุรกิจท้องถิ่นคล้ายกับที่จีนดำเนินการอยู่ในปัจุบัน อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่เป็นอุปสรรค์สำคัญสำหรับการลงทุนและทำธุรกิจในอาร์เจนตินา ที่ควรคำนึงได้แก่ สภาวะเงินเฟ้อ(Inflation) ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สูงเป็นอันดับสองในภูมิภาคลาตินอเมริกา รองจากเวเนซูเอลา ส่งผลให้นักธุรกิจไม่สามารถวางแผนการผลิตและการลงทุนได้เพราะไม่มีความมั่นใจในราคาวัตถุดิบที่ต้องซื้อและการตั้งราคาที่เหมาะสมเพื่อคงไว้ซึ่งกำไร ปัญหาการคอรัปชั่น (Corruption) และกฎระเบียบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (Policy Instability) นอกจากนี้ อาร์เจนตินายังมีกฎหมายให้ความคุ้มครองสิทธิด้านแรงงานอย่างมาก (Restrictive Labor Regulation) และสหภาพแรงงานที่มีอิทธิพลซึ่งมีการประท้วงของกลุ่มแรงงานต่างๆ ส่งผลให้มีการหยุดงานและชะลอการผลิตอยู่เป็นประจำ
ประจำวันที่ 1 พฤศจิกายน 2011