ส่องกล้องมองเศรษฐกิจแดนหมีขาว หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก

ส่องกล้องมองเศรษฐกิจแดนหมีขาว หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก

วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ส.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565

| 2,195 view

ส่องกล้องมองเศรษฐกิจแดนหมีขาว หลังวิกฤติเศรษฐกิจโลก


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก
อีเมล์
[email protected]

 

ภาพจาก www.google.com

             รัสเซีย ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นทั้งประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Economies Country) และหนึ่งในประเทศกลุ่มขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจใหม่อย่าง BRICs กำลังได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา และปัญหาการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจยุโรป โดยเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอยซ้ำซ้อน หลังจากที่ได้รับการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือทางเศรษฐกิจเป็นระดับ AA+ ส่งผลให้ตลาดหุ้นในสหรัฐฯ และทั่วโลกปรับลดลงอย่างเฉียบพลัน ทางด้านยุโรปเองก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สินของกลุ่มประเทศยูโรโซน อย่างอิตาลี และสเปน ที่อาจไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก จึงได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าทางเศรษฐกิจของรัสเซียให้ทุกท่านได้ติดตามกัน ดังนี้

             จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้ตลาดทุนรัสเซีย (MICEX) ปรับตัวลดลงถึง 4.1 จุด ในวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา และ 5.5 จุดในวันต่อมา ทั้งยังปรับลดลงต่อเนื่องตลอดช่วงสัปดาห์นั้น ซึ่งนับว่าเป็นการปรับตัวลดลงสูงสุดตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2551  ส่วนทางด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยน รัสเซียเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดในกลุ่ม BRICs โดยค่าเงินรูเบิลลดลงร้อยละ 2.3 โดยเฉลี่ยในตระกร้าตลาดยูโร-ดอลลาร์สหรัฐ ของธนาคารกลางรัสเซีย ซึ่งเป็นอัตราการปรับตัวลดลงสูงสุดในรอบ 2 ปี

             ผลกระทบที่เกิดขึ้นในตลาดทุนและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของรัสเซียนั้น สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจรัสเซียมีความอ่อนไหวอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯและกลุ่มยูโรโซน อีกทั้ง ปัจจัยทางเศรษฐกิจของรัสเซียเองยังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพิงรายได้หลักจากการส่งออกพลังงานถึงร้อยละ 17 ของGDP ดังนั้น ผลกระทบในทางลบใดๆที่เกิดขึ้นต่อปริมาณและราคาน้ำมันโลก จะมีผลโดยตรงต่อรายได้และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศของรัสเซีย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากราคาน้ำมันโลกยังมิได้ปรับลดลงมาก รัสเซียจึงได้ประโยชน์ในด้านราคาจากการส่งออกอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับลดลงของมูลค่าการซื้อขายในตลาดทุนและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของรัสเซียนั้น อาจเป็นการตอบสนองในลักษณะ panic selling มากกว่าที่จะอยู่บนฐานความเป็นจริงของผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ในระยะยาว รัสเซียคงยากที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปริมาณความต้องการน้ำมันที่ลดลง และอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงผู้นำเข้าและราคาสินค้าภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อต่อไป