วันที่นำเข้าข้อมูล 26 มี.ค. 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
เศรษฐกิจบาห์เรนพุ่งสวนสถานการณ์การเมือง
http://www.thaiembassybahrain.org/ หรืออีเมล์ [email protected]
ปรากฎการณ์ Arab Spring ในช่วงปี ๒๕๕๔ ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในกลุ่มชาติอาหรับไม่เว้นแม้แต่บาห์เรน ซึ่งถึงแม้ว่า รัฐบาลบาห์เรนสามารถควบคุมสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมาไม่ให้บานปลายไปจนถึงขั้นของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แต่ก็มีผลต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจบาห์เรนต่อจากนี้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันถึงแม้สำนักงานพัฒนาการทางเศรษฐกิจของบาห์เรนได้ระบุถึงแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในปี ๒๕๕๕ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตในอัตราร้อยละ ๔ เมื่อถึงไตรมาสที่ ๔ จากร้อยละ ๑.๑ ในช่วงต้นปี แต่ ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ Arab Spring ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การเติบโตของภาคธุรกิจสาขาการท่องเที่ยวและธนาคารชะลอตัว ดังเห็นจากการที่สินทรัพย์ต่างประเทศของธนาคารบาห์เรนได้ลดลงจาก ๒๒๒.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในสิ้นปี ๒๕๕๓ เหลือ ๒๐๒.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ ที่สำคัญกว่านั้น บาห์เรนยังคงพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากภาคอุตสาหกรรมน้ำมันซึ่งมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ภาครัฐยังดำรงสถานะเป็นตัวขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งในส่วนของการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้วยการอัดฉีดเงินงบประมาณจำนวนมากเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยผู้มีรายได้น้อย การเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ และการเพิ่มอัตราข้าราชการ
เป็นที่น่าสนใจว่า ในขณะที่รัฐบาลบาห์เรนพยายามส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนโครงการลงทุนร่วมกับต่างชาติ ซึ่งมีมูลค่ากว่า ๖๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี ๒๕๕๔ ปัจจัยสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบาห์เรนให้ปรับตัวดีขึ้นในปี ๒๕๕๕ กลับเป็นความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้านในกรอบคณะมนตรีความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council-GCC) ซึ่งมีมติให้เงินช่วยเหลือ ๑๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ กับบาห์เรนและโอมาน ปีละ ๑ พันล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเวลา ๑๐ ปี และจากการลงทุนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านที่ร่ำรวย อาทิ โครงการสร้างทางรถไฟคู่ขนานร่วมกับซาอุดิอาระเบียมูลค่า ๔.๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งที่น่าจับตามองในขณะนี้น่าจะเป็นความพยายามของรัฐบาลบาห์เรนที่จะผลักดันการพัฒนาเชิงโครงสร้างทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม เพื่อการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน บาห์เรนได้เสริมจุดแข็ง
ด้านเศรษฐกิจด้วยการกำหนดแผนลงทุนมูลค่ากว่า ๒๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำเทคโนโลยีมาเพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตน้ำมันของประเทศ อย่างไรก็ดี บาห์เรนจะไม่สามารถพัฒนาประเทศไปสู่ทิศทางที่หวังไว้ได้ หากประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองภายในประเทศยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกจุด โดยเฉพาะการกระจายรายได้ที่เหลื่อมล้ำกันอย่างมากในสังคม ซึ่งถูกนำมาผูกโยงกับความแตกต่างทางนิกายศาสนา (ซีอะต์-สุหนี่) อันทำให้กลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองที่หยั่งรากลึกในสังคมปัจจุบันของบาห์เรน และเป็นเสมือนเชื้อไฟที่ไม่มีวันดับของปรากฏการณ์ Arab Spring ที่อาจเกิดขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้ อันส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคธุรกิจต่างๆ หรือโดยอ้อมผ่านความเชื่อมั่นของต่างประเทศที่ลดลง ดังเห็นจาก credit rating
ของบาห์เรนซึ่งยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นภายหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๕ Standard & Poors ได้จัดอันดับทางเศรษฐกิจของบาห์เรน
อยู่ที่ BBB/A-3 และมี negative outlook
ด้วยเหตุนี้ หากมองในแง่ดีแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของบาห์เรนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ย่อมเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยในการขยายโอกาสการประกอบธุรกิจการค้าและการลงทุนในประเทศนี้อย่างไรก็ดี การเมืองของบาห์เรนที่ยังไม่สงบนิ่งซึ่งเป็นผลให้ห้เศรษฐกิจบาห์เรนเติบโตได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะการที่รัฐบาลและชาวบาห์เรนยังไม่บรรลุถึงความปรองดองและสมานฉันท์ที่สมบูรณ์ระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งต่าง ๆ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีประการหนึ่งให้รัฐบาลไทยและปวงชนชาวไทยได้หันกลับมาพิจารณาว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราคนไทยจะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจังที่จะก้าวล่วงอุปสรรคทางการเมืองในปัจจุบันเพื่อประโยชน์สุขและความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนของเราคนไทยทุกคนทั้งในวันนี้และวันข้างหน้าต่อไป
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)