ประเด็นข่าวเศรษฐกิจของฮ่องกงและมาเก๊ารอบสัปดาห์

ประเด็นข่าวเศรษฐกิจของฮ่องกงและมาเก๊ารอบสัปดาห์

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ม.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ย. 2565

| 2,077 view

ประเด็นข่าวเศรษฐกิจของฮ่องกงและมาเก๊ารอบสัปดาห์

 

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง

 

     สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง ขอส่งตรงข่าวเศรษฐกิจรอบสัปดาห์จากเกาะฮ่องกงมาฝากท่านผู้อ่านกัน ดังนี้

 

บริษัทไต้หวันใช้ฮ่องกงเป็นประตูสู่จีน


     ผลสำรวจจาก Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) และ Taiwan Electrical and Electronic Manufactures Association พบว่า บริษัทในไต้หวันส่วนใหญ่มีแผนจะขยายธุรกิจเข้าไปในจีนโดยใช้ฮ่องกงเป็นฐาน
จีนและไต้หวันได้ลงนามในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Economic Co-operation Framework Agreement หรือ ECFA) เมื่อกลางปี 2553 ทำให้มียอดการค้าขายระหว่างจีนกับไต้หวันมากขึ้น โดยกรอบECFA ดังกล่าวกำหนดให้มีการลดและยกเว้นภาษีศุลกากรสินค้าจากไต้หวันรวมกว่า 539 รายการ
     จากผลสำรวจความเห็นของบริษัทไต้หวัน 780 แห่ง พบว่า ร้อยละ 70 ของบริษัทที่มีแผนจะขยาย
การลงทุนในจีนเห็นว่า สามเหลี่ยมปากแม่น้ำแยงซีและปากแม่น้ำเพิร์ลมีทำเลที่ตั้งที่เหมาะสม และบริษัท  ส่วนใหญ่ต้องการการสนับสนุนในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมาย การไกล่เกลี่ยในกรณีเกิดข้อพิพาท รวมถึงบริการด้านการตลาด  ซึ่งผลสำรวจพบว่า บริษัทไต้หวันกว่าร้อยละ 70 สนใจที่จะใช้บริการดังกล่าวของฮ่องกง 
     นอกจากนี้ บริษัทไต้หวันยังเห็นว่า ฮ่องกงมีความสำคัญต่อการขยายธุรกิจเข้าไปในจีน เพราะฮ่องกงมีระบบการเคลื่อนย้ายเงินทุนเสรี มีระบบการเงินที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบกฎหมายที่โปร่งใสด้วย
นางสาว Pansy Yau Lai-ping นักเศรษฐศาสตร์จาก HKTDC ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ฮ่องกงจะได้รับประโยชน์จากกรอบความร่วมมือ ECFA เพราะบริษัทในไต้หวันเห็นถึงข้อได้เปรียบของฮ่องกงในด้านบริการในหลายสาขา และปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของบริษัทในไต้หวันได้ใช้ฮ่องกงเป็นฐาน สนับสนุนการขยายธุรกิจเข้าไปในจีนอยู่แล้ว

 

ฮ่องกงก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับหนึ่งของโลก


     ฮ่องกงได้รับการจัดให้เป็นศูนย์กลางทางการเงินอันดับหนึ่งของโลก นำหน้าสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร หลังจากได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 4 เมื่อปี 2553
     ฮ่องกงได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีการพัฒนาด้านการเงินสูงสุดจาก 60 ประเทศ โดยมีค่าดัชนีการพัฒนาด้านการเงินสูงสุด (5.16 จุด จาก 7 จุด)  ขณะที่สหรัฐอเมริกาเป็นรองอยู่อับดับที่ 2 ตามด้วยสหราชอาณาจักร และสิงคโปร์
นาย John Tsang Chun-wah รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังฮ่องกงกล่าวว่า ฮ่องกงยินดีที่ WEF ตระหนักถึงความแข็งแกร่งของฮ่องกงในด้านการเข้าถึงเงินทุน ความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจ และบริการด้านการเงินของธนาคาร โดยเฉพาะการระดมทุน (initial public offering)
     ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันการเงินอื่นๆ เช่น นาย Raymond Yeung จากธนาคาร  ANZ เห็นว่า ที่ผ่านมาสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินของฮ่องกงเป็นรองนครนิวยอร์ก กรุงลอนดอน และกรุงโตเกียว แต่การที่ปัจจุบันฮ่องกงได้รับการจัดอันดับให้เป็นศูนย์กลางการเงินอันดับหนึ่งของโลกอาจมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากฮ่องกงที่มีความใกล้ชิดกับจีน 
นาย Lu Ting นักเศรษฐศาสตร์จาก Bank of America Merrill Lynch เห็นว่า ฮ่องกงสามารถดึงดูดวิสาหกิจและนักธุรกิจได้มาก เนื่องจากฮ่องกงมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำ
     นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังเห็นว่า การที่ฮ่องกงสามารถดึงดูดบริษัทต่างๆ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้มาก การมีอัตราภาษีค่อนข้างต่ำ และการเป็นศูนย์กลางธุรกิจเงินหยวนระหว่างประเทศ ทำให้ฮ่องกงได้รับการจัดอันดับเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับหนึ่งของโลก และสถานะดังกล่าวจะส่งผลให้ฮ่องกงสามารถดึงดูดการระดมทุน รวมถึงทรัพยากรบุคคลในด้านดังกล่าวได้มากขึ้น

 

นักลงทุนแห่ลงทุนในจีนโดยใช้เงินหยวนมากขึ้น


     นักลงทุนต่างชาติแห่ลงทุนโดยใช้เงินหยวนในจีนมากขึ้น นับตั้งแต่รัฐบาลจีนอนุญาตให้ใช้เงินหยวนแทนเงินดอลลาร์ในการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
     เมื่อเดือนตุลาคม 2554 จีนได้ประกาศอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถใช้เงินหยวนในการลงทุนโดยตรงได้ ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถเลือกใช้เงินหยวนหรือเงินดอลลาร์ลงทุนโดยตรงในจีนได้  และยังสามารถกู้ยืมเงินหยวนหรือออกพันธบัตรเงินหยวนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงหรือตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ได้
     นาย Wang Chao รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน กล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่ส่งผลให้มีเงินทุนไหลเวียนเข้าจีนถึง 1.65 หมื่นล้านหยวน (2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง) โดยร้อยละ 70 ของเงินทุนมาจากฮ่องกง อย่างไรก็ดี โครงการส่วนใหญ่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก โดยมีเพียง 13 โครงการเท่านั้นที่มีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านหยวน
     นอกจากนี้ รัฐบาลจีนพยายามผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินระหว่างประเทศโดยการลดข้อจำกัดในการซื้อ-ขายและใช้เงินหยวนระหว่างประเทศ ซึ่งจีนต้องการให้ฮ่องกงมีบทบาทในด้านดังกล่าวมากขึ้นในฐานะที่ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายเงินหยวนระหว่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์จีนยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวกับการปรับระเบียบการซื้อ-ขายเงินหยวน เพื่อให้การซื้อ-ขายเงินหยวนเป็นไปอย่างสะดวกและโปร่งใส 
     ศาสตราจารย์ Chan Ka-keung ตำแหน่ง Secretary for Financial Services and the Treasury ของฮ่องกง เห็นว่า หลักเกณฑ์ดังกล่าวจะมีส่วนส่งเสริมบทบาทของฮ่องกงในการเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายเงินหยวนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ฮ่องกงมีเงินฝากในรูปเงินหยวนมากถึง 6.19 แสนล้านหยวน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากพอสำหรับการปล่อยกู้ให้แก่นักลงทุน 
     ขณะที่นาย Andrew Fung Hua-chung กรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายการคลังและการลงทุน จากธนาคาร Hang Seng  เห็นว่า นักลงทุนต่างชาติจะใช้เงินหยวนในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากนักวิเคราะห์หลายรายคาดการณ์ว่า ในปี 2555 เงินหยวนจะแข็งค่าน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 3

 

ADB ปรับลด GDP ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกรวมทั้งฮ่องกงและจีน


      ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank - ADB) ได้ปรับลดอัตราการเจริญเติบโต หรือ GDP ของเศรษฐกิจในประเทศแถบเอเชียตะวันออก รวมถึงฮ่องกงและจีน
ADB ได้ปรับลดตัวเลข GDP ของประเทศแถบเอเชียตะวันออกใน  2554 ลงจากร้อยละ 7.6 เหลือร้อยละ 7.5 และจากร้อยละ 7.5 เหลือร้อยละ 7.2 ในปี 2555 โดยระบุว่า ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวเป็นการประเมินในแง่บวก เพราะหากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง อาจส่งผลให้ GDP ในเอเชียตะวันออกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.4 ในปี 2555  นอกจากนี้  ยังได้ปรับลดตัวเลข GDP ของจีนในปี 2555 ลงจากร้อยละ 9.1 เหลือร้อยละ 8.8
      ADB ยังให้ความเห็นว่า หากรัฐบาลของแต่ละประเทศมีการเตรียมพร้อมที่ดี สถานการณ์ดังกล่าวอาจจะไม่เลวร้ายมากนัก ทั้งนี้ มาตรการบรรเทาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ เช่น ความร่วมมือทางการค้าและการเงินในภูมิภาค และการสร้างความเชื่อมโยงกับประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเจริญเติบโตอื่นๆ จะทำให้ปริมาณการบริโภคภายในภูมิภาคและภายในประเทศสูงขึ้น และจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกได้
     อย่างไรก็ดี บริษัท Control Risks ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงนานาชาติประเมินว่า เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังมีแนวโน้มค่อนข้างดี โดยขณะที่สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจและการเงิน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกในปี 2555 และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียจะยังคงเจริญเติบโตได้ด้วยแรงสนับสนุนจากจีน
     บริษัท Macquarie Securities ซึ่งเป็นบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ คาดการณ์ว่า GDP ของฮ่องกงจะลดลงจากร้อยละ 5 ในปี 2554 เหลือร้อยละ 3.7 ในปี 2555 เนื่องจากวิกฤตการเงินในยุโรปยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมแนวโน้มของเศรษฐกิจฮ่องกง นอกจากนี้ ยังคาดว่าระดับราคาอสังหาริมทรัพย์ ในฮ่องกงในปี 2555 จะลดลงร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลเชิงลบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนในฮ่องกงด้วย

******************