จับกระแสความตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ

จับกระแสความตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ

วันที่นำเข้าข้อมูล 16 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 พ.ย. 2565

| 2,190 view

 

จับกระแสความตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐฯ

 

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล
อีเมล์
[email protected]

 

 

(ภาพจาก www.google.com)

 

                 ช่วงนี้อีกหนึ่งกระแสเศรษฐกิจเกาหลีใต้ที่เป็นประเด็นน่าสนใจจับตามอง คงหนีไม่พ้นการเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีเกาหลีใต้-สหรัฐอเมริกา (KORUS FTA) เรื่องราวจะเป็นอย่างไร สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล มีคำตอบมาฝากกัน
รัฐสภาเกาหลีใต้ได้มีมติเห็นชอบการทำความตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐแล้วเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 หลังจากที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรครัฐบาล Grand National Party (GNP) ได้ใช้เสียงข้างมากผลักดันให้การทำความตกลงการค้าผ่านรัฐสภา ขณะที่พรรคฝ่ายค้านปฏิเสธไม่ยอมรับ โดยได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 151 ต่อ 7 เสียงและงดออกเสียง 12 เสียง ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการลงมติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านได้ออกมาประท้วงและมีสมาชิกพรรค Democratic Labour Party (DP) ได้จุดระเบิดแก๊สน้ำตาเพื่อชะลอขั้นตอนการออกเสียงดังกล่าว โดยพรรคฝ่ายค้านยืนยันที่จะขัดขวางความตกลงที่เอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐฯ โดยเฉพาะข้อบัญญัติใน Investor-State Disputes Settlement ที่อนุญาตให้นักลงทุนสหรัฐอเมริกานำข้อพิพาทต่าง ๆ กับนักลงทุนเกาหลี ไปขึ้นศาลในประเทศที่สามได้ ซึ่งพรรคฝ่ายค้านถือว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นเอื้อประโยชน์ให้แก่สหรัฐอเมริกามากกว่าเนื่องจากเป็นประเทศมหาอำนาจ


                 โดยก่อนหน้านี้พรรครัฐบาลเกาหลีใต้ยังลังเลในการผ่านร่างความตกลงการค้าดังกล่าว โดยใช้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ของพรรคที่มี 169 จาก 295 ที่นั่งในรัฐสภา เนื่องจากเกรงว่าจะเสียคะแนนนิยมจากผู้มีสิทธิออกเสียงก่อนการเลือตั้งทั่วไปและการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า ทั้งนี้ ความตกลงการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกากับเกาหลีใต้ ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเกาหลีใต้เป็นประเทศระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 12 ของโลกเลยทีเดียว


                 นอกจากนี้ มีชาวเกาหลีใต้ประมาณ 2,500 คน รวมตัวกันใกล้ศาลาว่าการกรุงโซลเพื่อประท้วงการทำความตกลงดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นการขายอนาคตของชาวเกาหลีใต้ให้แก่สหรัฐอเมริกา จะทำให้สหรัฐอเมริกาควบคุมเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีใต้และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสหรัฐอเมริกาและธุรกิจขนาดใหญ่เพียงฝ่ายเดียว พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับสหรัฐอเมริกาใหม่ ทั้งนี้ สภาคองเกรสสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติความตกลงนี้ เมื่อเดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งการอนุมัติความตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงประธานาธิบดีเกาหลีใต้เดินทางเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการและรัฐบาลเกาหลีใต้จะผลักดันความตกลงดังกล่าวให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2555
ตามที่ได้หารือกับสหรัฐอเมริกา

 

: ที่มา หนังสือพิมพ์ THE KOREA TIME ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 2011