เกาะติดเศรษฐกิจฮ่องกง

เกาะติดเศรษฐกิจฮ่องกง

วันที่นำเข้าข้อมูล 8 ธ.ค. 2554

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ย. 2565

| 5,434 view

เกาะติดเศรษฐกิจฮ่องกง

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง


     ฮ่องกง นอกจากจะเป็นสวรรค์ของนักช็อป ดึงดูดเงินจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว ยังเป็นเมืองที่มี ความพร้อม เป็นที่ต้องตาต้องใจนักลงทุนต่างชาติ อีกด้วย สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง จึงไม่พลาดเก็บข่าวดี ๆ มาฝากกันเช่นเคย 

 

ระบบภาษีที่ง่ายและมีความชัดเจนมีส่วนส่งเสริมเศรษฐกิจฮ่องกง


     ปัจจุบันฮ่องกงยังคงรักษาสถานะการเป็นหนึ่งในเมืองที่มีอัตราภาษีต่ำที่สุดในโลก และมีกฎระเบียบด้านภาษีที่ง่ายและไม่ซับซ้อน ทำให้ฮ่องกงมีข้อได้เปรียบและมีศักยภาพในการเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าและการเงิน 
     นาย Augusto Lopez-Claros ผู้จัดการฝ่ายข้อมูลด้านตัวชี้วัดและการวิเคราะห์ จาก World Bank เปิดเผยว่า ลักษณะเด่นของระบบภาษีในฮ่องกง คือ ง่ายและชัดเจน ทำให้ฮ่องกงเป็นเมืองที่ได้เปรียบในการทำธุรกิจการค้า โดยฮ่องกงสามารถจัดหารายได้อย่างเหมาะสมเพื่อที่จะนำไปพัฒนาเมืองโดยไม่ต้องผลักภาระภาษีให้แก่ภาคธุรกิจมากนัก 
     งานวิจัยเรื่องการปฏิรูประบบภาษีซึ่งจัดทำโดย World Bank, International Finance Corporation และบริษัท PricewaterhouseCoopers ได้ศึกษาเศรษฐกิจใน 183 เขตเศรษฐกิจ และพบว่า นับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา มี 123 เขตเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีในลักษณะที่เป็นการลดภาระด้านภาษีแก่ภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ยังพบว่า หลายประเทศในทุกภูมิภาคทั่วโลกยกเว้นเอเชียใต้ได้มีการปรับโครงสร้างภาษีให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และได้มีการลดอัตราภาษีสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ลงถึงร้อยละ 8.5 ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงระบบภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ โดยนาย Lopez-Claros ให้ความเห็นว่า กฎหมายภาษีที่ง่ายต่อการปฏิบัติตามจะช่วยลดการหนีภาษี และทำให้รัฐบาลมีรายรับที่แน่นอน ทั้งนี้ จากการศึกษาพบว่า อัตราภาษีโดยเฉลี่ยสำหรับธุรกิจ SMEs ใน 183 เขตเศรษฐฏิจอยู่ที่ร้อยละ 44.8 ของผลกำไร ขณะที่อัตราภาษีประเภทดังกล่าวในฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 23 (สำหรับในไตรมาสแรกของปี 2554)

 

ฮ่องกงเร่งพัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าฟุ่มเฟือยในภูมิภาค


     Hong Kong Trade Development Council (HKTDC) เปิดเผยว่า บริษัทโลจิสติกส์ (logistics) ในฮ่องกงมีแนวโน้มเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดีโดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินค้าในจีน และฮ่องกงสามารถที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าฟุ่มเฟือยในภูมิภาคเอเชีย (Asias distribution centre for luxury goods)  รายงานจาก World Luxury Association เปิดเผยว่า จีนกำลังจะเป็นตลาดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่ใหญ่ที่สุดในโลกแทนที่ญี่ปุ่นในปีหน้า โดยในปีที่ผ่านมา ชาวจีนบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยเป็นมูลค่าถึง 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าสินค้าฟุ่มเฟือยที่มีการบริโภคทั้งหมด  นาย Ramond Yip ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริหารของ HKTDC กล่าวว่า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจีน ฉบับที่ 12 (2554-2558) ได้มีการกล่าวถึงบทบาทของฮ่องกงในฐานะการเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าฟุ่มเฟือยในภูมิภาค รวมทั้งยังได้มีการกำหนดกรอบนโยบายเพื่อส่งเสริมบทบาทดังกล่าวด้วย 
     นาย Willy Lin Sun-mo ประธานสภาขนส่งสินค้าทางทะเลของฮ่องกง (Hong Kong Shippers Council) ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันฮ่องกงได้เป็นแหล่งกระจายสินค้าให้กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียง อาทิ Tiffany ซึ่งได้ใช้ฮ่องกงเป็นศูนย์กระจายสินค้าในภูมิภาคโดยพิจารณาจากความปลอดภัย ทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับจีน และอัตราภาษีในท้องถิ่น นอกจากนี้ ปัจจัยด้านคุณภาพการเก็บรักษาสินค้า การบรรจุสินค้า การผลิตสินค้าใหม่ (reprocessing) และบริการหลังการขาย เป็นปัจจัยหลักที่จะสนับสนุนให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากกรณีของ iPhone และ iPad ของบริษัท Apple ที่มีการส่งชิปจากผู้ผลิตหลายรายในเอเชียมาที่ฮ่องกงเพื่อให้ฮ่องกงดำเนินกระบวนการผลิตใหม่โดยนำชื่อบริษัทผู้ผลิตออก ก่อนที่จะประทับตราบริษัท Apple เพื่อป้องกันการสืบหาแหล่งผลิตและลอกเลียนแบบ 
     อย่างไรก็ดี นาย Stephen Chan อดีตประธานสมาคมขนส่งในฮ่องกง (Hong Kong Logistics Assiciation) ให้ความเห็นว่า แม้ฮ่องกงจะมีข้อได้เปรียบหลายประการที่สามารถดึงดูดบริษัทต่างๆ เข้ามาตั้งศูนย์กระจายสินค้าได้ แต่ข้อจำกัดด้านพื้นที่และทรัพยากรบุคคลยังคงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าในภูมิภาคของฮ่องกง นอกจากนี้ ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่แพงขึ้นยังส่งผลให้ค่าเช่าอาคารเพื่อใช้เป็นคลังเก็บสินค้าแพงตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธุรกิจโลจิสติกส์ด้วย

 

CE ฮ่องกงและ IMF คาด เศรษฐกิจฮ่องกงมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากวิกฤตการเงินในยุโรป


     นาย Donald Tsang Yam-kuen ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเปิดเผยว่า เศรษฐกิจฮ่องกงอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสที่ 3 และมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจอาจจะซบเซาต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเนื่องจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปอาจจะทวีความรุนแรงขึ้น โดยคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในปี 2555 อาจลดลงเหลือเพียงร้อยละ 2 (ในปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงอยู่ที่ร้อยละ 7 และเป็นที่คาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ที่ร้อยละ 5)  
     นาย Tsang ให้ความเห็นว่า ในระยะ 2-3 ปีนี้ เศรษฐกิจโลกอาจจะไม่เจริญเติบโตมากนัก เนื่องจากตลาดขนาดใหญ่ของโลก อาทิ ยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งตลาดอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงฮ่องกงอาจได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงในปี 2555 จะอยู่ในภาวะซบเซาในบางช่วง แต่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนและการดำเนินงบประมาณเกินดุลของรัฐบาลฮ่องกงจะมีส่วนช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าวได้ การคาดการณ์ของนาย Tsang สอดคล้องกับนักวิเคราะห์หลายราย โดยก่อนหน้านี้ ธนาคาร HSBC และ Standard Chartered ก็ได้มีการปรับตัวเลขคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงลดลงไปแล้ว 
     อย่างไรก็ดี นาย Nicholas Kwan หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดตะวันออก ของธนาคาร Standard Chartered ได้ให้ความเห็นว่า ภาวะถดถอยในฮ่องกงอาจเป็นเพียงภาวะถดถอยเชิงเทคนิค* (Technical Recession) โดยเศรษฐกิจฮ่องกงอาจชะลอตัวจนถึงไตรมาสแรกของปี 2555 แต่ภายในสิ้นปี 2555 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อาจจะมีอัตราการเจริญเติบโตร้อยละ 3-3.5 นอกจากนี้ ธุรกิจส่งออกในฮ่องกงที่ชะลอตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาอาจจะฟื้นตัวได้ในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีน

 

* ภาวะถดถอยเชิงเทคนิค* (Technical Recession) คือ ภาวะที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบจากไตรมาสก่อนหน้าติดต่อกันเป็นเวลา 2 ไตรมาส หากติดลบเกินกว่า 2 ไตรมาสจะถือเป็นภาวะถดถอยอย่างแท้จริง (Real Recession)