ความร่วมมือด้านพลังงาน

ความร่วมมือด้านพลังงาน

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 15,302 view

พลังงาน

     พลังงานเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ดังสังเกตได้ว่า การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันในช่วงปีที่ผ่านมาได้นำไปสู่วิกฤติทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศ วิกฤตในประเทศ อาทิ การชะลอตัวการเติบโตของ GDP การปรับตัวสูงขึ้นของค่าครองชีพ อันส่งผลต่อเสถียรภาพการเมืองภายในประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ พลังงานยังมีนัยสำคัญต่อสันติภาพและความสงบสุขในเวทีโลก ดังเห็นได้จากกรณีความขัดแย้งที่เกิดจากการแย่งชิงพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรน้ำมัน ซึ่งเป็นชนวนนำไปสู่สงครามระหว่างประเทศในที่สุด

     จากข้อมูลในปี 2553 ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านพลังงาน (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และไฟฟ้า) รวมเป็นมูลค่า 9.1 แสนล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบมากถึง 82% ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า พลังงานเป็นปัจจัยที่ทำให้ไทยต้องสูญเสียรายได้จำนวนมากและต้องพึ่งพาต่างประเทศสูง ดังนั้น หากไทยสามารถลดปริมาณการใช้พลังงาน ด้วยการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ แสวงหาแหล่งน้ำมันเพิ่ม และพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่นๆ เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอล ไบโอดีเซล) พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ ก๊าซชีวภาพ ฯลฯ นอกจากเชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน) ได้ ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นคงด้านพลังงาน (1) ของประเทศ ทั้งนี้ ความมั่นคงด้านพลังงานมิได้เป็นเพียงเรื่องของอุปสงค์ อุปทาน และราคา แต่ยังรวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงานอีกด้วย เช่น มลภาวะในสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ด้วยเหตุนี้ การใช้กลไกพลังงานสะอาดจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจไม่น้อยกว่าการมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอ        

กองสนเทศเศรษฐกิจ
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

(1) ความมั่นคงด้านพลังงาน หมายถึง การมีแหล่งพลังงานเพื่อตอบสนองความต้องการใช้อย่างเพียงพอ มีราคาที่เหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน

เอกสารประกอบ

energy-20120703-174557-198549.pdf