ความร่วมมือเอเชีย - ACD (Asia Cooperation Dialogue)

ความร่วมมือเอเชีย - ACD (Asia Cooperation Dialogue)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 47,507 view

สถานะล่าสุดของกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue: ACD)

1. ภูมิหลัง

                   แนวคิด ACD ริเริ่มเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชียมีวัตถุประสงค์หลัก คือ เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเป็นเอเชีย ตลอดจนความร่วมมือในวงกว้าง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและศักยภาพที่หลากหลายของประเทศสมาชิกเป็นหลัก

                   ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ACD มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในมิติต่างๆ โดย ACD ได้ขยายสมาชิกภาพจาก  18 ประเทศก่อตั้ง เป็น 31 ประเทศจากทุกอนุภูมิภาคของทวีปเอเชีย[1] และมีการขยายกรอบสาขาโครงการซึ่งประเทศสมาชิกเสนอตัวเป็นผู้ขับเคลื่อน/ร่วม ขับเคลื่อน (Prime/Co-Prime Mover) ใน 20 สาขา[2]

2. ผลการประชุมรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 10 ที่ประเทศคูเวต (10-11 ต.ค. 2554)

               ที่ประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 10 ที่ประเทศคูเวต (10-11 ต.ค. 2554) ได้หารือในประเด็น “Towards a better future for Asian Cooperation”  และประเทศสมาชิกได้ให้ความเห็นชอบต่อเอกสาร Kuwait Declaration  ซึ่งมีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียในหลายสาขา อาทิ เศรษฐกิจ การค้า การคลัง วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมทั้งการให้ความสำคัญต่อการประชุมอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ เชี่ยวชาญของประเทศสมาชิก รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องบรรลุการรวมตัวทางเศรษฐกิจของ ACD เพื่อให้ได้มาซึ่งการแข่งขันที่เป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจ

3. บทบาทและท่าทีไทย

ไทย เป็นผู้ริเริ่ม ACD และได้รับความไว้วางใจจากประเทศสมาชิกให้รับหน้าที่ ACD Coordinator  อีกทั้งยังเป็นผู้ขับเคลื่อนความร่วมมือในสาขาการท่องเที่ยว การเงินการคลัง และผู้ร่วมขับเคลื่อนสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อีกด้านหนึ่งด้วย

นอก เหนือจากข้อตกลงตามปฎิญญาข้างต้น ไทยให้ความสำคัญของความเชื่อมโยง (connectivity) ทั้งในระดับอนุภูมิภาค และการเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ACD โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมของเอเชียในระดับ people-to-people โดยการทำความรู้จักกันและกันให้มากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการศึกษาความเชื่อมโยงทางกายภาพของเอเชีย รวมทั้งการศึกษาแลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์/วัฒนธรรมของชาติเอเชียตามรอย เส้นทางสายไหม

4. กิจกรรมที่ไทยเคยเป็นเจ้าภาพในกรอบ ACD

                  1. ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรี ACD ครั้งที่ 1 และ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2545  และ 2546 ต่อมาประเทศสมาชิกที่เป็นประธาน ACD ในแต่ละปี ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ

                     2. The 1st ACD Tourism Business Forum, 22 - 24 พฤษภาคม 2546 ที่ จ. ภูเก็ต

                     3. The 2nd ACD Tourism Business Forum, 18-20 กรกฎาคม 2547 ที่ จ. เชียงใหม่

                     4. ACD High-Level Seminar on “Enhancing Financial Cooperation through Asian Bond Market Development”, 24-25 มีนาคม 2549 ที่กรุงเทพฯ

                     5. ACD Think Tanks Symposium : 15-17 ธันวาคม 2547 ที่กรุงเทพฯ

                              

                                เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2555  กระทรวงการต่างประเทศได้จัดประชุมระดมสมองเพื่อทบทวนบทบาทและทิศทางของไทยใน กรอบ ACD ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมต่างสนับสนุนแนวคิดที่จะฟื้นฟูความร่วมมือในกรอบ ACD ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ความร่วมมือด้านการศึกษา และการท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังเห็นว่า ความร่วมมือกับประเทศสมาชิก ACD ในสาขาพลังงาน การเกษตร การศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ SMEs เป็นสาขาที่น่าจะเอื้อประโยชน์กับไทยโดยตรง

 

เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ

http://www.acddialogue.com/

*********************************

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กุมภาพันธ์ 2555

 

[1] ได้แก่ บาห์เรน บังกลาเทศ ภูฏาน บรูไนฯ กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน ญี่ปุ่น คาซัคสถาน เกาหลีใต้ คูเวต คีร์กิซสถาน ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า โอมาน ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ กาตาร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย สิงคโปร์ ศรีลังกา ทาจิกิสถาน ไทย เวียดนาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อุซเบกิสถาน

[2] ได้แก่ พลังงาน การเกษตร การแก้ไขปัญหาความยากจน การเงินการคลัง การท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม เทคโนโลยีชีวภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งแวดล้อมศึกษา การศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน สถาบันด้านการจัดมาตรฐานเอเชีย เทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างด้านกฎหมาย  ความปลอดภัยบนท้องถนน การป้องกันภัยธรรมชาติและความร่วมมือด้านวัฒนธรรม