ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation)

ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation)

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 เม.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 32,782 view

 

ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation)

 

ความเป็นมา
       
ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan) มีสมาชิก 6 ประเทศ ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และญี่ปุ่น เกิดจากการที่ญี่ปุ่นอยากมีบทบาทที่ชัดเจนขึ้นในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ Mekong-Japan ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 16-17 มกราคม 2551  ที่กรุงโตเกียว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาระหว่างประเทศอาเซียนเดิมและใหม่ภายในอนุภูมิภาคเพื่อความแข็งแกร่งของอาเซียน ซึ่งจะนำไปสู่สันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของทวีปเอเชียต่อไป โดยผ่านการให้ความช่วยเหลือของญี่ปุ่นที่ให้กับ 4 ประเทศในลุ่มน้ำโขง ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) ในด้านต่างๆ ทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์และการกระจายสินค้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและประชาชน ในขณะที่บทบาทของไทย คือ การเป็นประเทศผู้ให้ร่วม (co-donor / co-sponsor) กับญี่ปุ่นในการพัฒนาอนุภูมิภาค โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งไทยมีประสบการณ์และศักยภาพสูง ที่ผ่านมาบทบาทไทยสะท้อนจากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพร่วม (co-host) กับญี่ปุ่นใน

1) การประชุม Mekong-Japan International Conference on the EWEC and the SEC ภายใต้หัวข้อ “COMPLETING CONNECTIVITY, CREATING ECONOMIC PROSPERITY” เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2553 ที่กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานร่วมกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นในพิธีเปิด และมีผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ เอกชนและวิชาการของประเทศสมาชิก รวมถึงผู้แทนองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วมหารือแนวนโยบายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่สมบูรณ์และปรับปรุงกฎระเบียบในการข้ามแดนภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ transport corridor เป็น economic corridor อย่างเต็มรูปแบบ 2) การประชุม Green Mekong Forum เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2554 ที่กรุงเทพฯ โดยมีภาครัฐของประเทศสมาชิก ภาคเอกชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นของญี่ปุ่น มานำเสนอนโยบายและเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม และมีผู้เข้าร่วมอื่นจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงสำนักข่าวที่สนใจมาเข้าร่วมรับฟัง สอบถาม และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุในแผนปฏิบัติการข้อริเริ่ม “A Decade toward Green Mekong”

       ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาอนุภูมิภาคมาเป็นระยะเวลานาน เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ให้เงินสนับสนุนผ่านทางธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion – GMS) แต่เนื่องจากกรอบ GMS มี 2 มณฑลตอนใต้ของจีน คือ ยูนนานและกวางสี ทำให้จีนมีบทบาทมากในกรอบนี้ ดังนั้น การริเริ่มความร่วมมือ Mekong-Japan ของญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนการชูบทบาทเดี่ยวของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาคให้เด่นชัดยิ่งขึ้น

เอกสารที่สำคัญ

• ยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว 2012 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Tokyo Strategy 2012 for Mekong – Japan Cooperation) มีเป้าหมายในการลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและระเบียบกฎเกณฑ์ให้อำนวยต่อการได้รับประโยชน์สูงสุดจากแนวพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจะส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น สุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร โดยยุทธศาสตร์กรุงโตเกียวได้กำหนดเสาหลักสำหรับความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นไว้ 3 เสา คือ (1) เสาหลักที่ 1 เสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (2) เสาหลักที่ 2 การพัฒนาไปพร้อมกัน (3) เสาหลักที่ 3 สร้างความมั่นใจด้านความมั่นคงของมนุษย์และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

·    แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินความร่วมมือในช่วงปี 2556 – 2558 มีการระบุโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ที่จะดำเนินการตามเสาหลักในการพัฒนาความร่วมมือ 3 เสา ที่ที่ประชุมผู้นำ ครั้งที่ 4 ได้ให้ความเห็นชอบไว้ใน Tokyo Strategy 2012 for Mekong – Japan Cooperation ได้แก่ เสาหลักที่ 1 การเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เสาหลักที่ 2 การพัฒนาไปพร้อมกัน และเสาหลักที่ 3 การรักษาความมั่นคงของมนุษย์ และความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม และได้ระบุประเด็นสำคัญ คือ ความร่วมมือระหว่างไทยกับเมียนมาร์ในการพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมทวาย รวมทั้งการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน โดยญี่ปุ่นจะพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการดังกล่าวด้วย

·    แผนปฏิบัติการกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นข้างต้นได้รวมแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (MJ-CI) ซึ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การอำนวยความสะดวกทางการค้าและโลจิสติกส์ การส่งเสริม SME อุตสาหกรรมสนับสนุน ภาคบริการและภาคอุตสาหกรรมใหม่และแผนปฏิบัติการข้อริเริ่ม “หนึ่งทศวรรษสู่แม่โขงเขียวขจี” (Green Mekong) ซึ่งเป็นข้อเสนอของญี่ปุ่นในการให้ความช่วยเหลืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการจัดการ ป่าไม้ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ การจัดการทรัพยากรน้ำ และมลพิษทางอากาศในเขตชุมชนเมือง และการลดก๊าซเรือนกระจกด้วย

การประชุมที่สำคัญ

·     การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 4 เมื่อเดือน เม.ย. 2555 ที่กรุงโตเกียว

- ที่ประชุมได้รับรองยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ฯ (Tokyo Strategy 2012 for Mekong – Japan Cooperation) เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ซึ่งมีเป้าหมายในการลดช่องว่างการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขง โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและระเบียบกฎเกณฑ์ให้อำนวยต่อการได้รับประโยชน์สูงสุดจากแนวพื้นที่เศรษฐกิจ รวมทั้งจะส่งเสริมการลงทุนและเพิ่มความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน และให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น สุขภาพและความมั่นคงทางอาหาร

- ญี่ปุ่นยืนยันการให้ความช่วยเหลือต่อประเทศลุ่มน้ำโขงเป็นมูลค่าประมาณ 600,000 ล้านเยน ในอีก 3 ปี ข้างหน้า

- ไทยได้จัดสรรงบประมาณจำนวนเงิน 77 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการต่อประเทศลุ่มน้ำโขง ในปีงบประมาณ 2555

- ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศ เช่น สันติภาพและความสงบสุขของคาบสมุทรเกาหลี ความร่วมมือในการลดอาวุธ การไม่แพร่ขยายและการขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง การปฏิรูปองค์การสหประชาชาติ ความมั่นคงทางทะเล

- ที่ประชุมมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น สำหรับปี 2556 – 2558 ในอนาคตอันใกล้

การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 3 เมื่อเดือน พ.ย. 2554 ต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 19 ที่บาหลี ผลสรุปได้ดังนี้

- ญี่ปุ่นยืนยันที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขง- ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เน้นการดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในลุ่มน้ำโขง เริ่มทำการศึกษาโครงการก่อสร้างพื้นฐานในเมียนมาร์ และให้การสนับสนุนการฟื้นฟูจากความเสียหายจากอุทกภัยในภูมิภาค โดยจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งเอเชีย (ADRC) ในญี่ปุ่นและศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชียในไทย (ADPC)

- เวียดนามเสนอให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการบริหารจัดการน้ำ โดยช่วยทำการศึกษาประเมินผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำโขงภายใต้กรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง         

- ไทยให้ความสำคัญต่อการจัดการภัยพิบัติ การบริหารจัดการน้ำ และความมั่นคงทางอาหาร และสนับสนุนข้อเสนอของ สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในความร่วมมือด้านวิชาการเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และชื่นชมที่ญี่ปุ่นศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการท่าเรือน้ำลึกทวายและเส้นทางที่เกี่ยวข้อง   

การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 2 เมื่อเดือน ต.ค. 2553 ต่อเนื่องกับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 17 ที่กรุงฮานอย ผลสรุปได้ดังนี้

- ที่ประชุมยินดีกับความคืบหน้าที่ผ่านมาของกรอบความร่วมมือและย้ำถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมกันขยายความร่วมมือให้มีการพัฒนาอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงในอาเซียนและความร่วมมือในกรอบอาเซียน-ญี่ปุ่น

- ที่ประชุมรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จที่ผ่านมาและแนวทางความร่วมมือในอนาคต รวมถึงเห็นชอบแผนปฏิบัติการข้อริเริ่มความร่วมมือเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น (MJ-CI) และแผนปฏิบัติการข้อริเริ่ม “หนึ่งทศวรรษสู่แม่โขงเขียวขจี” (Green Mekong)

- นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้เพื่อสร้างเส้นทางรถไฟ พร้อมแจ้งความพร้อมของไทยที่จะนำร่องเปิดด่านศุลกากร 24 ชม. และจัดตั้ง fast lane ที่ด่านชายแดน ด้าน HRD นรม.ประกาศจะให้ทุนฝึกอบรมแก่ประเทศลุ่มน้ำโขงเพิ่มขึ้นอีก 100 ทุน และเสนอให้ญี่ปุ่นร่วมมือกับ ITD และส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมมาฝึกอบรมในลุ่มน้ำโขง รวมถึงเสนอให้จัดอันดับความสำคัญของแผนปฏิบัติการ 63 รายการ 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  (2) การค้า การลงทุน โลจิสติกส์ (3) HRD  (4) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (5) การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น


• การประชุมผู้นำ ครั้งที่ 1 เมื่อเดือน พ.ย. 2552 ผลสรุปได้ดังนี้

- ที่ประชุมได้หารือภายใต้หัวข้อ Establishment of a New Partnership for the Common Flourishing Future” เพื่อกำหนดสาขาความร่วมมือสำคัญและหารือเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ร่วมกันของความร่วมมือในอนาคต และผู้นำประเทศสมาชิกได้รับรองปฏิญญาโตเกียวและแผนปฏิบัติการ 63 ข้อ เป็นเอกสารผลการประชุม นอกจากนี้ ญี่ปุ่นได้เสนอให้ความช่วยเหลือเป็นเงิน 500,000 ล้านเยน (ประมาณ 170,000 ล้านบาท) เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาค

- ไทยได้ยืนยันการเป็นประเทศผู้ให้ โดยร่วมเป็น co-donor และ co-sponsor ในการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยเน้นศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในอนุภูมิภาค เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ Mekong Institute  และได้เชิญชวนให้ญี่ปุ่นเข้ามา มีส่วนร่วมในการฝึกอบรมโดยใช้สถานที่ในไทยในสาขาที่ไทยและญี่ปุ่นให้   ความสนใจร่วมกัน เช่น การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการอำนวยความสะดวกการผ่านแดน และเชิญองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาเป็นผู้จัดร่วม เช่น ADB และ UNESCAP ซึ่งเคยทำการศึกษาในเรื่องดังกล่าว

กิจกรรม

1. การประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2556 รัฐบาลไทยและรัฐบาลญี่ปุ่นได้ร่วมเป็นเจ้าภาพการประชุม Green Mekong Forum ครั้งที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมร่วม คือ นายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ  และนายฮิเดะนาโอะ ยานางิ รองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันตกเฉียงใต้  ผู้เข้าร่วมมาจากกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิกความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ได้แก่ ไทย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมทั้งมีผู้แทนภาคเอกชนไทยและญี่ปุ่น และผู้แทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมด้วย

การประชุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามกิจกรรมที่ได้ดำเนินการโดยญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงเพื่อจุดมุ่งหมายในการใช้ “ข้อริเริ่มแผนปฏิบัติการสำหรับ ‘A Decade toward the Green Mekong’” โดยผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นใน 6 หัวข้อตามแผนปฏิบัติการ เช่น การจัดการป่าไม้ การจัดการทรัพยากรน้ำ การป้องกันภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นและประเทศลุ่มน้ำโขงได้หารือกันในหัวข้อ “การพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ซึ่งเน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจให้ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

เอกสารประกอบการประชุม

- คำกล่าวเปิดของนายชุตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช หัวข้อ "การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน"

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนาย Phousavanh Fongkhamdeng ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว หัวข้อ "การจัดการทรัพยากรน้ำ"

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนายเถลิงศักดิ์ เพชรสุวรรณ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หัวข้อ "การแก้ไขและป้องกันปัญหาหมอกควัน"

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนาย Satoshi Iemoto ผู้เชี่ยวชาญ JICA ประจำองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หัวข้อ "Climate Change International Technical and Training Center"

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนาง Keiko Sasaki ผู้อำนวยการ Kitakyushu Asian Center for Low Carbon Society หัวข้อ "Low Carbon Society"

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนาย Nguyen Khac Hieu รองอธิบดีกรมอุทกศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเวียดนาม 

- Powerpoint ประกอบคำบรรยายของนาย Danh Serey, Undersecretary General for Green Growth กัมพูชา

 

*************************************************


กองส่งเสริมเศรษฐสัมพันธ์และความร่วมมือ
                              กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

ตุลาคม 2556

 

 

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

cooperation-20120418-152633-151937.pdf
cooperation-20120418-152711-408443.pdf
cooperation-20121114-110650-609819.pdf
cooperation-20121114-111115-519493.pdf
cooperation-20121114-111311-492317.docx
cooperation-20121114-143409-564709.docx
cooperation-20121115-151521-172053.docx