ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับเกาหลี (Mekong - ROK Cooperation)

ความร่วมมือประเทศลุ่มน้ำโขงกับเกาหลี (Mekong - ROK Cooperation)

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 ก.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 15,270 view

ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี

(Mekong - ROK Cooperation)

 

ความเป็นมา

                    ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีเป็นผลสืบเนื่องจากการประชุมผู้นำอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 13 ณ กรุงฮานอย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2553 ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีได้เสนอให้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสาธารณรัฐเกาหลี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมมิตรภาพและความร่วมมือในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยให้ความสำคัญแก่ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา

                    ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลีมีการประชุม 2 ระดับ คือ การประชุมระดับรัฐมนตรีและการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส กำหนดจัดปีละ 1 ครั้ง โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีจะจัดในช่วงการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา และกลับไปจัดที่สาธารณรัฐเกาหลีทุก 3 ปี ส่วนการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสจะจัดทุกปีที่ประเทศสมาชิกเรียงตามลำดับอักษร

ผลการประชุมที่สำคัญ

                   1. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 1 จัดระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2554 ณ กรุงโซล ซึ่งที่ประชุมได้รับรองปฏิญญาแม่น้ำฮันเพื่อสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี (Han-River Declaration of Establishing the Mekong-ROK Comprehensive Partnership for Mutual Prosperity) ซึ่งกำหนดสาขาความร่วมมือ 3 ด้าน ประกอบด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน (โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ) การพัฒนาที่ยั่งยืน (การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรน้ำ) การพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (การเกษตรและการพัฒนาชนบท และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์)

                   2. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 จัดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงพนมเปญ  ที่ประชุมได้หารือการดำเนินการที่ผ่านมาและทิศทางความร่วมมือในอนาคต และประเด็นของภูมิภาคและของโลก รวมทั้งได้รับรองแถลงการณ์ของประธานร่วมของการประชุมซึ่งมีสาระสำคัญ คือ สนับสนุนการตั้งกองทุนความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี การจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อประกาศใช้ในปี 2557 และการพิจารณาจัดทำโครงการนำร่องในช่วงที่ยังไม่มีแผนปฏิบัติการ

                   ในการประชุมครั้งนี้ ไทยยืนยันความสนใจที่จะเป็นประเทศผู้ประสานงานสาขาการเกษตรและการพัฒนาชนบท และได้เสนอเป็นเจ้าภาพการประชุม Mekong-ROK Business Forum ครั้งที่ 1 ในปี 2556 ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบตามข้อเสนอของไทย

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 

 

                   3. การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 จัดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน มีผลการประชุมที่สำคัญ คือ

                         3.1 รับทราบผลการประชุม Mekong-ROK Business Forum ครั้งที่ 1  ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ที่กรุงเทพฯ  เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนข้อมูล ขยายโอกาสการค้าการลงทุนในประเทศลุ่มน้ำโขง รวมทั้งนำเสนอแนวคิดการเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและของโลก

                          3.2 รับรองถ้อยแถลงของประธานร่วมการประชุมฯ ซึ่งเห็นชอบการจัดตั้งกองทุน Mekong-ROK Cooperation Fund ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลีจะสนับสนุนงบประมาณ  โดยให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง (Mekong Institute) ที่จังหวัดขอนแก่นเป็นผู้บริหารจัดการ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสหารือรายละเอียดการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อให้ที่ประชุมรัฐมนตรีรับรองในปี 2557

                          3.3 ข้อเสนอที่สำคัญของไทย คือ (1) เชิญสาธารณรัฐเกาหลีแบ่งปันเทคโนโลยีการจัดเก็บสินค้าเกษตรในไซโลเพื่อต่อยอดจากการที่ไทยลงทุนในโครงการเกษตรแบบมีสัญญาภายใต้ ACMECS (2) เสนอให้มีความร่วมมือด้านการพยากรณ์อากาศระดับภูมิภาค (3) สนับสนุนข้อเสนอของกัมพูชาที่จะจัดการประชุมสามฝ่ายกัมพูชา-ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี เพื่อพัฒนาเส้นทางหมายเลข 48 ในกัมพูชา (เกาะกง-สะแรอัมเบิล)

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน

บทบาทของไทย

                   ไทยเป็นประเทศประสานงานในสาขาการเกษตรและการพัฒนาชนบท และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาและองค์การที่ตั้งในไทยเป็นศูนย์ฝึกอบรมเพื่อพัฒนาบุคลากรหรือมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี เช่น เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 สถาบันลุ่มน้ำโขงที่จังหวัดขอนแก่นและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำไทยได้ร่วมกันจัดการประชุม Multi-stakeholders’ Consultative Meeting on the Mekong-ROK Comprehensive Partnership for Mutual Prosperity เพื่อระดมความคิดเห็นสำหรับจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยนายนพปฎล คุณวิบูลย์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้เข้าร่วมด้วย

                    เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556 ไทยและสาธารณรัฐเกาหลีได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ Mekong-ROK Business Forum ครั้งที่ 1 โดยกระทรวงการต่างประเทศและคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เป็นเจ้าภาพร่วมฝ่ายไทย เพื่อเป็นเวทีให้ภาคเอกชนได้รับทราบและแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมทั้งสร้างเครือข่ายเพื่อประโยชน์ในการขยายโอกาสการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

นายพิเชษฐ์ หวังเทพอนุเคราะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน

ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถ่ายภาพหมู่ร่วมกับนาย Kim Kyou-hyun, Vice Minister of Foreign Affairs สาธารณรัฐเกาหลี

นายปิยวัชร นิยมฤกษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้เข้าร่วมการเสวนา

 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

- ปฏิญญาแม่น้ำฮันเพื่อสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุมเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี

- ถ้อยแถลงของประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2555 ณ กรุงพนมเปญ

- ถ้อยแถลงของประธานร่วมในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศลุ่มน้ำโขงกับสาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน

- Recommended Multilateral Plan of Action for the Mekong-ROK Comprehensive Partnership for Mutual Prosperity (ผลจากการประชุม Multi-stakeholders' Consultative Meeting on the Mekong-ROK Comprehensive Partnership for Mutual Prosperity จัดโดย Mekong Institute ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 ณ จังหวัดขอนแก่น)

การประชุม Mekong-ROK Business Forum ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2556

- สุนทรพจน์ของนายพิเชษฐ์ หวังเทพอนุเคราะห์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- สุนทรพจน์ของนาย Kim Kyou-hyun, Vice Minister of Foreign Affairs สาธารณรัฐเกาหลี

- รายชื่อผู้เข้าร่วม

- Powerpoint ประกอบการบรรยายของนาย SUON Sophal, Cambodian Investment Board, Council for the Development of Cambodia

- Powerpoint ประกอบการบรรยายของ ดร.แสงไพวัน แสงอาพอน กระทรวงแผนการและการลงทุน สปป. ลาว

- Powerpoint ประกอบการบรรยายของนาย Moe Myint Ktaw สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมเมียนมาร์

- Powerpoint ประกอบการบรรยายของนายพิชิต เดชนีรนาท สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

- Powerpoint ประกอบการบรรยายของนาย Le Xuan Duong กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม

...................................

                       

 

 

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

cooperation-20130530-113427-682997.JPG