รายงาน Global Enabling Trade Report 2012

รายงาน Global Enabling Trade Report 2012

วันที่นำเข้าข้อมูล 12 ก.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 10,208 view

รายงาน Global Enabling Trade Report 2012

WEF ได้ปรับอันดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น 3 อันดับ เป็นอันดับที่ 57 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ ในรายงาน The Global Enabling Trade Report 2012

World Economic Forum (WEF) ได้เปิดตัวรายงานจัดอันดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าฉบับล่าสุด หรือ ‘Global Enabling Trade Report 2012’ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่  23 พฤษภาคม 2555 ซึ่ง WEF ได้จัดทำรายงานดังกล่าวเป็นประจำทุก ๆ 2 ปี โดยประชาคมธุรกิจระหว่างประเทศให้ความสำคัญ กับรายงานดังกล่าวในการประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจ ซึ่งในปีนี้ ได้จัดอันดับประเทศ/เขตเศรษฐกิจ รวม 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ โดยใช้เกณฑ์ชี้วัดต่างๆ ภายใต้ 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเข้าถึงตลาด การบริหารจัดการจุดข้ามพรมแดน โครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคมและการสื่อสาร และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งในแต่ละด้านยังจำแนกออกเป็นเสาหลัก รวม 9 เสาหลัก

สำหรับอันดับของประเทศไทย WEF ได้ปรับอันดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าในภาพรวมของประเทศไทยดีขึ้น 3 อันดับ เป็นอันดับที่ 57 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ จากเดิมอันดับที่ 60 จาก125 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2553 โดยถือเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับที่ 1) และมาเลเซีย (อันดับที่ 24) และถือเป็นอันดับที่ 8 ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์ ฮ่องกง (อันดับที่ 2) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 18) มาเลเซีย ไต้หวัน (อันดับที่ 29) เกาหลีใต้ (อันดับที่ 34) และจีน (อันดับที่ 56)

WEF ได้ปรับอันดับประเทศไทยดีขึ้นในเสาหลักและตัวชี้วัด ดังต่อไปนี้

  • เสาหลักการเข้าถึงตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ (เสาหลักที่ 1) อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 54 อันดับ เป็นอันดับที่ 59 (จากอันดับที่ 113) โดยภายใต้เสาหลักดังกล่าว ตัวชี้วัดที่มีอันดับดีขึ้นมาก อาทิ
    -  มาตรการที่มิใช่ภาษีต่อสินค้านำเข้า (ตัวชี้วัดที่ 1.02) ดีขึ้น 60 อันดับ เป็นอันดับที่ 26 (จากอันดับที่ 86)
    -  ความซับซ้อนยุ่งยากด้านภาษี (ตัวชี้วัดที่ 1.03) ดีขึ้น 21 อันดับ เป็นอันดับที่ 103 (จากอันดับที่ 124)
  • เสาหลักปริมาณและคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานทางการคมนาคม (เสาหลักที่ 5) อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 6 อันดับ เป็นอันดับที่ 34 (จากอันดับที่ 40) โดยประเทศไทยมีอันดับที่ดีในตัวชี้วัดสัดส่วนของถนนลาดยางต่อถนนทั้งหมด (ตัวชี้วัดที่ 5.03) ในอันดับที่ 20 และคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานของการคมนาคมทางอากาศ (ตัวชี้วัดที่ 5.04) ในอันดับที่ 29

ในบางตัวชี้วัดภายใต้เสาหลักดังกล่าว WEF ได้ปรับลดอันดับประเทศไทยลง อาทิ
-  คุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานระบบราง (ตัวชี้วัดที่ 5.05) ลดลง 11 อันดับ เป็นอันดับที่ 64 (จากอันดับที่ 53)
-  ความเชื่อมโยงของการขนถ่ายสินค้าข้ามประเทศ (ตัวชี้วัดที่ 5.02) ลดลง 9 อันดับ เป็นอันดับที่ 43 (จากอันดับที่ 34)

  • เสาหลักสภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ (เสาหลักที่ 8) อันดับของประเทศไทยดีขึ้น 1 อันดับ เป็นอันดับที่ 52 (จากอันดับที่ 53)

ในบางตัวชี้วัดภายใต้เสาหลักดังกล่าว WEF ได้ปรับลดอันดับประเทศไทยลง อาทิ
-  การคุ้มครองทางทรัพย์สินทางปัญญา (ตัวชี้วัดที่ 8.01) ลดลง 23 อันดับ เป็นอันดับที่ 93 (จากอันดับที่ 70)
-  ความเข้มข้นของการแข่งขันภายในประเทศและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันฯ (ตัวชี้วัดที่ 8.05) ลดลง 19 อันดับ เป็นอันดับที่ 70 (จากอันดับที่ 51)

แม้ว่าในบางเสาหลัก WEF จะปรับลดอันดับ/คงอันดับเดิมของประเทศไทย แต่อันดับดังกล่าวยังอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของไทยที่เป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของประเทศ ได้แก่

  • อันดับที่ 20 ในเสาหลักความมีประสิทธิภาพของกระบวนการนำเข้า-ส่งออก (เสาหลักที่ 3) โดยมีความโดดเด่นในเรื่องต้นทุนของการส่งออก (ตัวชี้วัดที่ 3.07) ในอันดับที่ 13 จำนวนเอกสารที่ต้องใช้ในกระบวนการนำเข้าสินค้า (ตัวชี้วัดที่ 3.06) ในอันดับที่ 18
  • อันดับที่ 30 ในเสาหลักปริมาณและคุณภาพของบริการด้านการคมนาคม (เสาหลักที่ 6) ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านความเชื่อมโยงกับเครือข่ายการขนส่งทางเรือของโลก (ตัวชี้วัดที่ 27)
  • อันดับที่ 36 ในเสาหลักประสิทธิภาพของการบริหารจัดการทางศุลกากร (เสาหลักที่ 2) โดยได้รับอันดับที่ดีในเรื่องการบริการด้านศุลกากร(อันดับที่ 31)

     

 

WEF ได้ระบุปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้า-ส่งออกของไทยมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่

อุปสรรคต่อการส่งออก:

  • การเข้าถึงวัตถุดิบการผลิตที่นำเข้ามาในราคาที่ทำให้สามารถแข่งขันได้
  • การระบุชี้ชัดถึงตลาดและผู้ซื้อที่มีศักยภาพ/ข้อกำหนดทางเทคนิคและมาตรฐานของต่างประเทศ
  • ต้นทุนที่สูงและความล่าช้าที่เกิดจากการคมนาคมภายในประเทศ
  • ความยุ่งยากในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านคุณภาพและปริมาณที่กำหนดโดยผู้ซื้อ
  • เทคโนโลยีการผลิตและทักษะแรงงานที่ยังไม่เพียงพอ
  • ต้นทุนที่สูงและความล่าช้าที่เกิดจากการคมนาคมระหว่างประเทศ
  • กฎแหล่งกำเนิดสินค้าของต่างประเทศ
  • กระบวนการที่ยุ่งยากและการคอรัปชั่น ณ จุดข้ามพรมแดน
  • การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการค้า

อุปสรรคต่อการนำเข้า:

  • กระบวนการนำเข้าที่ยุ่งยาก
  • อุปสรรคทางการค้าในรูปแบบภาษีและที่มิใช่มาตรการทางภาษี
  • ต้นทุนที่สูงและความล่าช้าที่เกิดจากการคมนาคมระหว่างประเทศ
  • ต้นทุนที่สูงและความล่าช้าที่เกิดจากการคมนาคมภายในประเทศ
  • การคอรัปชั่น ณ จุดข้ามพรมแดน
  • ข้อกำหนดทางเทคนิคและมาตรฐานภายในประเทศ
  • โครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่ยังไม่เพียงพอ
  • อาชญากรรมและโจรกรรม