สภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC)

สภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC)

วันที่นำเข้าข้อมูล 27 ก.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 12,536 view

สภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC)

๑. ภูมิหลัง

สืบเนื่องจากราคายางพาราตกต่ำอย่างต่อเนื่องระหว่างปี ๒๕๓๘ – ๒๕๔๔ รัฐบาลไทย มาเลเซียและอินโดนีเซียได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมบาหลีระดับรัฐมนตรี (Joint Ministerial Declaration (Bali Declaration 2001)) เมื่อวันที่ ๑๒ ธ.ค. ๒๕๔๔ จัดตั้งองค์การความร่วมมือไตรภาคีด้านยางพารา (International Tripartite Rubber Organization - ITRO) เพื่อเป็นกรอบความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณยางพาราล้นตลาด และราคายางพาราตกต่ำ

๒. กลไกความร่วมมือ

๒.๑ บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (International Rubber Consortium Limited - IRCo) ทำหน้าที่เป็นองค์กรบริหารจัดการราคายางพาราในตลาดโลก จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๗ โดยมีรัฐบาลของทั้งสามประเทศเป็นผู้ถือหุ้นและจดทะเบียนจัดตั้งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย. ๒๕๔๗ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น ๑๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับสัดส่วน ๔:๓:๒ ได้แก่ ไทย ๕.๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  อินโดนีเซีย ๔.๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาเลเซีย ๒.๖๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่ของ IRCo ตั้งอยู่ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย

๒.๒ สภาไตรภาคียางพารา (International Tripartite Rubber Council – ITRC) ทำหน้าที่กำกับดูแลมาตรการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ทั้งนี้ ITRC กำหนดให้มีการประชุมระดับรัฐมนตรี เป็นประจำในวันที่ ๑๒ ธ.ค. ของทุกปี

๓. มาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคายาง

๓.๑ การบริหารจัดการการผลิต (Supply Management Scheme – SMS) เป็นมาตรการระยะยาว เพื่อส่งเสริมและแนะนำการขยายพื้นที่เพาะปลูกให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยางพาราของตลาดโลก 

๓.๒ การบริหารจัดการการส่งออก (Agreed Export Tonnage Scheme -  AETS) มาตรการระยะสั้นไม่เกิน ๑ ปี เพื่อควบคุมการส่งออกโดยใช้กลไก กฎหมายหรือวิธีการต่าง ๆ เช่น การกำหนดโควต้าการส่งออก การเก็บสต็อกสำรองยางในประเทศ

๓.๓ กลยุทธ์ด้านการตลาด (Strategic Market Operation – SMO) เพื่อดำเนินการเข้าซื้อ-ขายยางพาราในตลาดที่มีปัญหา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ยังไม่มีการดำเนินมาตรการดังกล่าว เนื่องจากมาตรการ SMS และ AETS ยังสามารถดำเนินการได้ดี

๔. พัฒนาการล่าสุด

     ๔.๑ ในการประชุม ITRC เมื่อวันที่ ๒๙ ส.ค. ๒๕๕๕ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้เห็นพ้องจำกัดปริมาณการส่งออกยางตามมาตรการ AETS ในช่วงระหว่างเดือน ต.ค. ๒๕๕๕ – มี.ค. ๒๕๕๖ ลง  ๓๐๐,๐๐๐ ตัน และโค่นต้นยาง ๑๐๐,๐๐๐ เฮกเตอร์ (ประมาณ ๖๒๕,๐๐๐ ไร่) เพื่อลดปริมาณการผลิตอีก ๑๕๐,๐๐๐ ตัน รวมเป็น

๔๕๐,๐๐๐ ตัน  อย่างไรก็ดี ราคายางพาราได้กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยและเคลื่อนไหวในช่วงแคบ ๆ จนถึง

ปัจจุบัน เนื่องจากนักลงทุน / นักเก็งกำไร ทราบข้อเท็จจริงว่าทั้งสามประเทศยังตกลงกันไม่ได้ว่าจะเริ่มมาตรการ

นี้ที่ระดับราคาเท่าใด

หัวหน้าคณะผู้แทนร่วมประชุม ITRC ของแต่ละประเทศโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพื้นฐานและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย

 

      ๔.๒ เมื่อวันที่ ๔ - ๕ ก.ย. ๒๕๕๕ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและโภคภัณฑ์มาเลเซียเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ควรผลักดันให้มีการใช้มาตรการ AETS ในทันที และเห็นควรประเมินสถานการณ์ราคายางพาราอีกครั้งในการประชุม ITRC ครั้งต่อไป ในอีก ๑ เดือนข้างหน้า โดยอาจต้องร่วมกันพิจารณาหากลไกแก้ไขใหม่หากราคายังไม่ดีขึ้น นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอให้ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ร่วมกันจัดตั้งตลาดกลางยางพาราขึ้น

      ๔.๓ ไทยมีกำหนดจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีของ ITRC ในวันที่ ๑๒ ธ.ค. ๒๕๕๕

ที่ จ. เชียงใหม่ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีประเด็นที่สำคัญ คือ การเพิ่มเงินกองทุนสำหรับ IRCo การเชิญเวียดนามเข้าร่วม ITRC และ IRCo และการทบทวนบทบาทของ ITRC และ IRCo ในระยะ ๑๐ ปี (ค.ศ. ๒๐๑๒ – ๒๐๒๑) เพื่อให้สามารถรองรับกับสถานการณ์การค้ายางพาราโลกในระยะ ๑๐ ข้างหน้าต่อไป

*******************

กองสนเทศเศรษฐกิจ

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

กันยายน ๒๕๕๕