ฮ่องกงรุก เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เอเชีย

ฮ่องกงรุก เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เอเชีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 19 พ.ย. 2565

| 3,827 view

ฮ่องกงรุก เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์เอเชีย


สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ [email protected]

 

 

           ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง เกี่ยวกับการประชุม Asian Logistics and Maritime Conference ซึ่งรัฐบาลฮ่องกงร่วมกับ Hong Kong Trade Development Council ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๕๕ 

           การประชุมดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเอเชียที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก  โดยพิจารณาจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ดังเห็นได้จากตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจจีน ปี ๒๕๕๕ โดยถึงแม้จะมีอัตราการเติบโตลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ ๘.๒ จาก ๗.๘ ในปี ๒๕๕๔ แต่ก็ยังสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกซึ่งน่าจะอยู่ที่ร้อยละ ๓.๓ จาก ๓.๕ ในปี ๒๕๕๔ และสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจเขตยูโรและสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๐.๒ และ ๒.๑ ตามลำดับ ตลอดจนถึงการที่ภูมิภาคเอเชียครองส่วนแบ่งการนำเข้า - ส่งออก บริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น จากร้อยละ ๒๕.๕ ในปี ๒๕๕๔ เป็น ๓๒.๕ ในปี ๒๕๕๔ โดยจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๔ เป็น ๑๐

           นาย John Tsang รัฐมนตรีคลังฮ่องกง เห็นว่า ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจข้างต้นแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในระบบเศรษฐกิจโลกซึ่งให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อห่วงโซ่อุปทานในภาพรวมที่ก่อให้เกิดการขยายตัวของธุรกิจและการค้าในภูมิภาคอย่างมาก อันสะท้อนถึงความสำคัญของภูมิภาคเอเชียทั้งในฐานะฐานการผลิตสำคัญและตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ โดยเฉพาะปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งในระหว่างเอเชียกับภูมิภาคอื่น และภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน และเป็นปัจจัยผลักดันให้เอเชียก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลก 

           อย่างไรก็ดี ที่ประชุมมีข้อสังเกตว่า การบริหารจัดการโลจิสติกส์ในเอเชียยังมีความท้าทายสูงและซับซ้อน เนื่องจากความแตกต่างกันมากระหว่างตลาดที่เติบโตแล้ว อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ และที่อยู่ระหว่างการพัฒนา อาทิ อินเดีย โดยเฉพาะด้านระบบกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และนโยบายของรัฐบาล และเห็นว่า การพัฒนาเอเชียสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลกควรต้องเริ่มจากการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในภูมิภาค โดยเน้น R&D  การยกระดับห่วงโซ่อุปทานและสร้างห่วงโซ่อุปทานในท้องถิ่นเพื่อลดต้นทุน  ความปลอดภัยของอาหาร และการพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการ พร้อมไปกับส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในเอเชียเพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลง เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจต่าง ๆ

           ในการนี้ ที่ประชุมได้กล่าวถึงข้อได้เปรียบของเมืองฮ่องกงที่จะพัฒนาเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชีย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของเอเชียสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลกต่อไป โดยระบุถึงการจัดอันดับของ ธนาคารโลกให้เมืองฮ่องกงมีศักยภาพด้านโลจิสติกส์มากเป็นอันดับที่ ๒ รองจากสิงคโปร์ ด้วยการพิจารณาจาก ๑) โครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยมีโครงข่ายการคมนาคมที่ครอบคลุม เทคโนโลยีที่ทันสมัย  ๒) การเป็นเมืองท่าเสรี  ๓) มีระบบภาษีไม่ซับซ้อน  ๔) ความเสรีด้านการไหลเวียนของเงินทุน ข้อมูลข่าวสารและแรงงาน รวมถึงการมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ  และ ๕) นโยบายรัฐบาลฮ่องกงให้ฮ่องกงเป็น Super-hub ด้านโลจิสติกส์และ e-commerce

           แนวคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์โลกเป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงอยู่ทั่วไป แต่ประเด็นสำคัญซึ่งควรคำนึงถึงน่าจะได้แก่ การผลักดันให้ประเทศไทยบรรลุถึงเป้าหมายของการเป็นหนึ่ง   ในศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ดังนั้น ข้อคิดและประสบการณ์จากการประชุมจึงน่าจะเป็นมุมมองที่เป็นประโยชน์ในการนำไปปรับใช้เพื่อให้ประเทศไทยขยับเข้าใกล้เป้าหมายแห่งการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นต่อไป