IPEA ร่วมประเมินเศรษฐกิจบราซิล

IPEA ร่วมประเมินเศรษฐกิจบราซิล

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ธ.ค. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 8,692 view

IPEA ร่วมประเมินเศรษฐกิจบราซิล


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ [email protected]

 

             กระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย เกี่ยวกับผลการหารือกับหน่วยงานด้านการวิจัยทางเศรษฐกิจของทางการบราซิล (Institute of Applied Economic Research -IPEA) เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของประเทศบราซิลในปัจจุบัน โดยมีสาระสรุปได้ดังนี้  

             ปัจจุบันเศรษฐกิจบราซิลเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมีระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจคงที่ประมาณร้อยละ ๔ ตั้งปี ค.ศ. ๒๐๐๔  บราซิลยังเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศซึ่งการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศมีส่วนสำคัญต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยบราซิลมีสัดส่วนมูลค่าการค้าต่างประเทศกับ GDP ต่ำที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศลาตินอเมริกาอื่น ๆ  

             IPEA ระบุว่า ความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจข้างต้นเป็นผลจาก ๑) การขยายตัวของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ ทรัพยากรธรรมชาติ และเนื้อสัตว์ ตลอดจนการค้นพบแหล่งพลังงานธรรมชาติใหม่นอกชายฝั่ง ที่ช่วยเพิ่มรายได้จำนวนมากให้แก่ประเทศ  ๒) การดำเนินนโยบายขจัดความยากจนด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาสถาบันครอบครัวและการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยมีประชากรยากจนร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งหมด (จากเดิมร้อยละ ๓๕)  ๓) การขยายตัวของการลงทุนภายในประเทศเพื่อรองรับความต้องการของประชากรที่มีรายได้ปานกลาง และเกิดการสร้างงานซึ่งทำให้อัตราการว่างงานต่ำกว่าร้อยละ ๕  ๔) การกระจายเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพผ่านธนาคารเพื่อการพัฒนาไปสู่นักลงทุนในประเทศ  และ ๕) การดำเนินนโยบายของธนาคารกลางบราซิลที่เน้นการบริหารการเงินแบบเข้มงวด โดยควบคุมอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในประเทศไม่ให้สูงกว่าร้อยละ ๗.๒๕ เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ และควบคุมให้ค่าเงินเฮอัลอ่อนค่าเหลือ ๒.๐ เฮอัล / ดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมให้สินค้าของบราซิลสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้

             อย่างไรก็ตาม IPEA ระบุว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๑๑ บราซิลเริ่มสูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขันในตลาดโลก โดยตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมดิ่งตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่มีการพึ่งพิงการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์และทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีความเสี่ยงสูงจากความแปรปรวนของธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติซึ่งนับวันจะลดลงเรื่อย ๆ  โดย IPEA และสถานเอกอัครราชทูตฯ มองว่า ความท้าทายทางเศรษฐกิจของบราซิลในปัจจุบันเป็นผลจาก ๑) มาตรการกีดกันสินค้าต่างประเทศซึ่งทำให้อุตสาหกรรมภายในอ่อนแอลงเพราะไม่ต้องมีการแข่งขัน  ๒) การที่ภาครัฐไม่มีนโยบายกระตุ้นอุตสาหกรรมภายในอย่างจริงจัง เพราะบราซิลพึ่งพิงตลาดภายในประเทศ การขายสินค้าเกษตรและแร่ธาตุ  ๓) การมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนแรงงานทักษะสูงซึ่งเป็นปัญหาต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการบริการ และก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงตามมาจากการแย่งตัวผู้มีทักษะสูงในตลาดแรงงาน โดยขณะนี้ทางการบราซิลได้ริเริ่มโครงการ Science without border เข้ามาใช้ด้วยการส่งนักศึกษาจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ คน ไปศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในต่างประเทศ และ ๔) นโยบายเชิงประชานิยมและสังคมนิยมของรัฐบาลซึ่งในอนาคตอาจสร้างปัญหาดุลการชำระเงินในภาครัฐ

             ประสบการณ์การพัฒนาทางเศรษฐกิจของบราซิลนับเป็นกระบวนการและองค์ความรู้ที่น่าสนใจสำหรับประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทย โดยเฉพาะการสร้างสมดุลย์ระหว่างการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศกับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจโดยอาศัยกำลังซื้อภายในประเทศ ควบคู่กับการใช้นโยบายปกป้องตลาดที่บางครั้งอาจดูเสมือนเป็นการกีดกันทางการค้า