ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งอันดับปานกลางค่อนข้างสูง

ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งอันดับปานกลางค่อนข้างสูง

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,212 view

ไทยได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่งอันดับปานกลางค่อนข้างสูง


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ / คณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ interecon๐๒@mfa.go.th

 

            ด้วยกระทรวงการต่างประเทศได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ว่า Legatum Institute (LI) ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยนโยบายสาธารณะเพื่อสนับสนุนสังคมที่มีเสรีและมั่งคั่งทัวโลก ได้นำเสนออันดับดัชนีความมั่งคั่ง (Prosperity Index) ของประเทศต่าง ๆ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๒  โดยระบุว่า ความมั่งคั่งของโลกในปี ค.ศ. ๒๐๑๒ เพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง แต่ในด้านความปลอดภัยและความมั่นคงกลับลดลง

           ประเด็นที่น่าสนใจจากการจัดอันดับในปีนี้ ได้แก่ ลำดับความมั่งคั่งของสหรัฐฯ ซึ่งลงไปอยู่ลำดับ ๑๒ โดยเป็นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม ๑๐ ประเทศแรกที่มีความมั่งคั่งสูงสุดของโลก ส่วนหลายประเทศในเอเชียได้รับการจัดอันดับความมั่งคั่งในลำดับที่สูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเวียดนาม ไทย และมาเลเซีย ซึ่งกำลังมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ไทยมีความมั่งคั่งอยู่ในอันดับที่ ๕๖ ซึ่งถือเป็นกลุ่มอันดับปานกลางค่อนข้างสูง และมีการพัฒนาที่ชัดเจนสำหรับดัชนีย่อยด้าน ๑) เศรษฐกิจ (ลำดับ ๑๘) และ ๒) ทุนทางสังคม (ลำดับที่ ๑๙) แต่ยังคงต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นในส่วนของดัชนีย่อยด้าน ๑) เสรีภาพส่วนบุคคล (อันดับ ๑๑๙) และ ๒) ความปลอดภัยและความมั่นคง (อันดับ ๙๙) ส่วนประเทศเอเชียอื่นซึ่งได้รับการจัดอันดับความมั่งคั่งในกลุ่มอันดับสูง ได้แก่ ฮ่องกง (๑๘) สิงคโปร์ (๑๙) ไต้หวัน (๒๐) ญี่ปุ่น (๒๒) เกาหลีใต้ (๒๗) UAE (๒๙)

           ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ ได้รับเชิญให้กล่าวสุนทรพจน์ปิดท้ายการนำเสนอดัชนีความมั่งคั่งดังกล่าว โดยระบุว่า เอเชียมิได้มั่งคั่งไปกว่ายุโรป แต่หากสามารถรักษาระดับการเติบโต เช่นที่ผ่านมา และคงความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ ได้ ก็เป็นไปได้ว่า ภายในปี ค.ศ. ๒๐๕๐ GDP ของเอเชียจะสูงถึงครึ่งหนึ่งของ GDP โลกตามการคาดการณ์ของ ADB และ Human Development Index จะใกล้เคียงกับมาตรฐานของยุโรปและสหรัฐฯ ขณะนี้  ทั้งนี้ ก่อนการกล่าวสุนทรพจน์ เอกอัครราชทูตฯ ได้แสดงความเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ต่อการที่ไทยได้รับการจัดอันดับเรื่องเสรีภาพค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไทยปกครองในระบบประชาธิปไตยและมีรัฐธรรมนูญที่ประกันเสรีภาพของประชาชนอย่างสูง โดยระบุว่า แบบสอบถามการจัดทำดัชนีความมั่งคั่งของ LI มีส่วนให้เกิดความคลาดเคลื่อน เนื่องจากไม่สะท้อนความแตกต่างด้านวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ และเสนอให้ LI ปรับปรุงแบบสอบถามและการประเมินดัชนีความมั่งคั่วโดยนำแนวคิดตะวันออกมาใช้ ได้แก่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดของนักคิดเอเชียอื่น ๆ

           อนึ่ง ผลการวิจัยดัชนีความมั่งคั่งของ LI ประเมินจาก ๑) ความร่ำรวยทางวัตถุ และ ๒) ความรู้สึกส่วนบุคคลปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นดัชนีย่อยด้านเศรษฐกิจ โอกาสและentrepreneurship การปกครอง การศึกษา สุขภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคง เสรีภาพส่วนบุคคล และทุนทางสังคม โดยมีการชี้ว่า ระบบการปกครองที่ตรวจสอบได้ และ entrepreneurship รวมทั้งความอดทนอดกลั้น (tolerance) ต่อคนต่างชาติและชนกลุ่มน้อย เป็นปัจจัยสำคัญต่อความมั่งคั่ง ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อการจัดอันดับ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลจาก ๑๔๒ ประเทศ ครอบคลุมร้อยละ ๙๖ ของประชากรโลก และ ร้อยละ ๙๙ ของ GDP โลก