จับตามอง ชิลี และอเมริกาใต้: คลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจ

จับตามอง ชิลี และอเมริกาใต้: คลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจ

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 6,141 view

จับตามอง ชิลี และอเมริกาใต้: คลื่นลูกใหม่ทางเศรษฐกิจ


สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซานติอาโก
กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ
ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] หรือ [email protected]

 

            องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจแห่งภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (ECLAC หรือ CEPAL) ร่วมกันรายงานสถิติการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชิลี ซึ่งเป็น ๑ ใน ๕ ประเทศของโลกที่มีเศรษฐกิจขยายตัวสูงสุดในปี ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้

           ดัชนีกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชิลีในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นสถิติการขยายตัวสูงสุดของปี ๒๕๕๕ โดยขยายตัวถึงร้อยละ ๖.๗ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยภาคเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการค้าปลีก ทั้งนี้ รัฐมนตรีคลังของชิลี ระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจชิลี ซึ่งน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมตลอดทั้งปีขยายตัวในอัตราร้อยละ ๕.๕

           นอกจากนี้ OECD ยังแถลงในรายงาน Economic Outlook ประจำเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๕ ว่า ชิลีมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในบรรดาสมาชิก OECD ทั้ง ๓๔ ประเทศ โดยมีปัจจัยบวกมาจากความต้องการภายในที่เพิ่มสูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราการจ้างงานและค่าจ้าง และการเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในด้านเหมืองแร่ พลังงาน และอสังหาริมทรัพย์

           สำหรับเศรษฐกิจของภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนในภาพรวมนั้น ECLAC ได้แถลงในรายงานด้านเศรษฐกิจประจำปี ๒๕๕๕ ของตนว่า ได้มีการขยายตัวถึงร้อยละ ๓.๑ ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของทั้งโลกโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ ๒.๒ โดยเมื่อพิจารณารายประเทศแล้วพบว่า เศรษฐกิจปานามาจะขยายตัวสูงสุดในภูมิภาคที่ร้อยละ ๑๐.๕ ตามด้วย เปรู และชิลี

           อย่างไรก็ดี การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจของบราซิลและอาร์เจนตินาซึ่งมีการขยายตัวต่ำ นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการเติบโตระดับปานกลางของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็ได้ส่งผลให้การเคลื่อนย้ายทุนไปยังประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งลาตินอเมริกาและแคริบเบียนลดลงด้วยเช่นกัน

           ทั้งนี้ ECLAC ได้ให้ข้อเสนอแนะแก่ประเทศในภูมิภาคนี้ว่า ในระยะสั้น ต้องส่งเสริมให้ตลาดการบริโภคภายขยายตัวและแข็งแกร่งมากขึ้น ส่วนในระยะยาว ต้องมีการปรับปรุงโครงสร้างภาคการผลิตด้วยการใช้นวัตกรรม การเพิ่มมูลค่า และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

           สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงซานติอาโกรายงานว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจชิลีมีแนวโน้มขยายตัวเกินกว่าร้อยละ ๕ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในปีถัดไป โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คือ ความต้องการบริโภคภายใน ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าไทยไปจำหน่ายยังชิลีด้วย อย่างไรก็ดี โดยที่ปัจจัยที่จะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของชิลีในภาพรวมตลอดทศวรรษนี้มากที่สุดคือ เศรษฐกิจจีน เนื่องจากเป็นตลาดนำเข้าทองแดง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของชิลี นักธุรกิจที่สนใจตลาดนี้จึงควรจับตาเศรษฐกิจจีนควบคู่กันไปด้วย