ผลการประชุม World Future Energy Summit (WFES) การประชุม International Water Summit (IWS) และพิธีมอบรางวัล Zayed Future Energy Prize (ZFEP)

ผลการประชุม World Future Energy Summit (WFES) การประชุม International Water Summit (IWS) และพิธีมอบรางวัล Zayed Future Energy Prize (ZFEP)

วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 6,658 view

            กระทรวงการต่างประเทศขอเรียนสรุปผลการประชุม World Future Energy Summit (WFES) ผลการประชุม International Water Summit (IWS) และพิธีมอบรางวัล Zayed Future Energy Prize (ZFEP) ระหว่างวันที่ ๑๕ - ๑๗ มกราคม ๒๕๕๖ ในกิจกรรม Abu Dhabi Sustainability Week (ASDW)  2013 ณ กรุงอาบูดาบี ตามที่ได้รับรายงานจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี ดังนี้

           ๑. พิธีเปิดการประชุม WFES และการประชุม IWS
                      ๑.๑ นาย Wu Hongbo รองเลขาธิการสหประชาชาติด้านกิจการเศรษฐกิจและสังคมได้กล่าวสุนทรพจน์ในนามเลขาธิการสหประชาชาติว่า เป้าหมายการพัฒนาหลังปี ค.ศ. ๒๐๑๕ จะต้องเน้นการปฏิบัติและการนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยคำนึงถึงขีดความสามารถและระดับการพัฒนาของ   แต่ละประเทศ รวมถึงสิ่งท้าทายใหม่ ๆ เช่น พลังงาน โดยประเด็นเรื่องน้ำมีความเกี่ยวข้องกับพลังงาน ซึ่งองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเลขาธิการสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี ๒๕๕๖ เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านน้ำ (International Year of Water Cooperation)
                      ๑.๒ นาย François Hollande ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกร้องให้ประชาคม  ระหว่างประเทศลงทุนด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ฝรั่งเศสมีพัฒนาการที่ก้าวหน้าในเรื่องนี้ โดยบริษัท Schneider Electric ของฝรั่งเศส ซึ่งได้รับรางวัล ZFEP ในปี ๒๕๕๕ เป็นตัวอย่างที่ดีในด้านพลังงานทดแทน
                      ๑.๓ นาง Cristina Fernandez de Kirchner ประธานาธิบดีอาร์เจนตินากล่าวถึงความพยายามของอาร์เจนตินาในการพัฒนาพลังงานทดแทนทุกชนิดรวมทั้งพลังงานนิวเคลียร์ และเล็งเห็นว่า ทุกประเทศจะต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ร่ำรวยควรมีความรับผิดชอบที่สูงกว่า
                      ๑.๔ สมเด็จพระราชินีราเนียแห่งจอร์แดน ในฐานะประธานกิตติมศักดิ์ของ UN Girl’s Education Initiative ตรัสถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเข้าถึงไฟฟ้าและพลังงานในประเทศที่ยากจนกับการศึกษาของเยาวชน ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว
                      ๑.๕ นาย Sultan Al Jaber ผู้แทนพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท Masdar (ผู้สนับสนุนหลักของ ADSW) กล่าวว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จัดการประชุม IWS ขึ้นเป็นครั้งแรกคู่กับ WFES ในปีนี้ เพราะน้ำเกี่ยวข้องกับพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำมีความสำคัญต่อสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่น้อยไปกว่าน้ำมัน เพราะปัจจุบันประเทศในตะวันออกกลางต้องใช้พลังงานมหาศาลในการแปรน้ำเค็มเป็นน้ำจืด

           ๒. การอภิปรายระดับรัฐมนตรีของ WFES และ IWS สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
                      ๒.๑ ในปี ๒๕๕๕ การลงทุนทั่วโลกด้านพลังงานทดแทนลดลงเล็กน้อย สาเหตุหลักเกิดจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ๔ เท่าในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา แสดงถึงการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อย่างไรก็ตาม อัตราการเจริญเติบโตของพลังงานทดแทนในปัจจุบันยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายสำหรับปี ค.ศ. ๒๐๓๐ ตามข้อริเริ่ม SE4ALL โดยอุปสรรคสำคัญคือการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลของภาครัฐ
                      ๒.๒ พัฒนาการที่สำคัญในเวทีพหุพาคีในปี ๒๕๕๕ ได้แก่ ผลการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๑๒  (Rio+20) ณ นครริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล และการก่อตั้ง UNSG Advisory Group on SE4ALL
                      ๒.๓ โครงสร้างราคาเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและมีโอกาส ที่จะเป็นชนวนความขัดแย้งทางการเมืองได้ โดยหากองค์การสหประชาชาตินิยามให้การเข้าถึงน้ำเป็นสิทธิมนุษยชนข้อหนึ่ง อาจทำให้ประชาชนคาดคิดว่าการอุปโภคบริโภคน้ำต้องไม่มีค่าใช้จ่าย

           ๓. พิธีมอบรางวัล Zayed Future Energy Prize (ZFEP) ซึ่งมีประธานาธิบดีสาธารณรัฐไอซ์แลนด์เป็นประธานคณะกรรมการคัดเลือก มีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้
                      ๓.๑ รางวัล Lifetime Achievement Award ได้แก่ ศาสตราจารย์ Jose Goldemberg (บราซิล) สำหรับการศึกษานำอ้อยมาพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงเอทานอล
                      ๓.๒ รางวัลสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัท Siemens (เยอรมนี) สำหรับนวัตกรรมพลังงานทดแทนและการประหยัดพลังงานในภาคอุตสาหกรรม
                      ๓.๓ สำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ได้แก่ บริษัท d.light Design (สหรัฐฯ) สำหรับการผลิตอุปกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ราคาประหยัดซึ่งช่วยให้ประชาชนในประเทศยากจนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้
                      ๓.๔ สำหรับ NGO ได้แก่ Ceres (สหรัฐฯ) สำหรับการชักจูงนักลงทุนและบริษัทเอกชนต่างๆให้ใช้พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
                      ๓.๕ สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา จัดขึ้นเป็นปีแรก โดยมอบรางวัลแก่โรงเรียนมัธยมศึกษาจาก ๕ ทวีป ที่มีผลงานด้านการลดการใช้ไฟฟ้า น้ำ และการจัดการขยะ ทั้งนี้ สำหรับทวีปเอเชียโรงเรียน Sheikh Khalifa bin Zayed Bangladesh Islamia School ณ กรุงอาบูดาบี ได้รับรางวัล