บัวแก้วนำเอกชนเยือนโปแลนด์ เปิดประตูธุรกิจสู่ภูมิภาคยุโรป

บัวแก้วนำเอกชนเยือนโปแลนด์ เปิดประตูธุรกิจสู่ภูมิภาคยุโรป

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ก.ค. 2556

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 7,850 view

                                     

            หากพูดถึงโปแลนด์ หลายคนอาจนึกถึงประเทศในฐานะเจ้าภาพร่วมการแข่งขันฟุตบอลแห่งชาติยุโรป ประจำปี 2555 หรือยูโร 2012 แต่อาจไม่เคยรู้จักในฐานะประเทศที่โดดเด่นด้านเศรษฐกิจซึ่งสามารถใช้เป็นฐานการลงทุนเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรป กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เล็งเห็นช่องทางสร้างโอกาสให้นักธุรกิจไทยจึงนำตัวแทนธุรกิจภาคเอกชนไทยกว่า 30 คน จาก 13 บริษัท 4 หน่วยงาน จากธุรกิจ 4 สาขา คือ อาหาร พลังงาน ท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และยานยนต์ เดินทางเยือนโปแลนด์เมื่อวันที่ 3-4 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อศึกษาดูงานและพบปะกับผู้บริหารหน่วยงานที่มีศักยภาพของโปแลนด์ รวมถึงตัวแทนของบริษัทไทยที่ได้ไปกรุยทางการลงทุนในโปแลนด์แล้ว และเข้าร่วมการสัมมนาทางธุรกิจโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเจ้าภาพมาให้ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนและอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ

            การศึกษาดูงานของภาคเอกชนในครั้งนี้เป็นความร่วมมือกันของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจัดขึ้นควบคู่กับการเดินทางเยือนโปแลนด์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับโปแลนด์มากขึ้น เนื่องจากมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับโปแลนด์หลายฉบับ

             ประเทศโปแลนด์นับเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางภูมิศาสตร์เช่นเดียวกับประเทศไทย นั่นก็คือเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคยุโรปเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศในยุโรปหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รวมถึงกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มีสมาชิกภาพด้วย

             "โปแลนด์เป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางระหว่างยุโรปตะวันตก ยุโรปกลาง และยุโรปตะวันออก ขณะเดียวกันโปแลนด์ก็เริ่มเปิดประเทศส่งผลให้นักลงทุนจากเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศยุโรปตะวันตก เข้ามาลงทุนกันเป็นจำนวนมาก เนื่องจากค่าแรงในโปแลนด์มีราคาถูก และด้วยความที่มีความสัมพันธ์กับประเทศทางเหนือของยุโรปจึงทำให้สามารถกระจายสินค้าไปสู่ประเทศอย่างเอสโตเนีย ลิทัวเนีย ลัตเวียได้" นายสถาวร ทรัพย์สุนทร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ประจำกรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์กล่าว

             นายสถาวรยังเสริมว่าไทยควรใช้ข้อได้เปรียบของโปแลนด์เข้ามาลงทุนตั้งหลักแหล่งทางธุรกิจ รวมถึงข้อได้เปรียบของการเป็นสมาชิกอียูก็จะส่งผลให้สินค้าที่มีฐานการผลิตในโปแลนด์มีสถานะเป็นสินค้าของอียู ซึ่งจะได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีในการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในอียูอีกด้วย

              ขณะที่ข้อได้เปรียบอีกจุดหนึ่งของโปแลนด์คือเป็นประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ยูโรโซน แม้ว่าวิกฤตการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้ภาคการส่งออกของโปแลนด์ถดถอยลง แต่การลงทุนในประเทศยังมีอยู่มากเนื่องจากค่าแรงถูก นอกจากนี้ยังมีเงินอุดหนุนจากสหภาพยุโรป ราว 67,000 ล้านยูโรทุกๆ 5 ปี เพื่อนำมาพัฒนาประเทศให้ทัดเทียมกับประเทศในสหภาพยุโรปอื่นๆ ส่งผลให้มีเงินไหลเข้าระบบเศรษฐกิจและมีการใช้จ่ายในประเทศมากยิ่งขึ้น

              นอกจากนี้โอกาสในการลงทุนด้านธุรกิจการบริการในโปแลนด์ก็ดูจะสดใส เนื่องจากธุรกิจบริการหลายแห่งในโปแลนด์เช่นจุดบริการลูกค้าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ร้านขายของชำ หรือธุรกิจบริการที่มีอยู่ในโปแลนด์ยังพัฒนาตามหลังธุรกิจบริการในไทยอยู่มาก เช่นหากลูกค้าใช้บริการร้านให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่แห่งหนึ่งในห้างสรรพสินค้าใจกลางกรุงวอร์ซอ อาจต้องใช้เวลารอนานถึง 2 ชั่วโมง ในขณะที่เจ้าของร้านขายของชำอาจไม่ยิ้มแย้มโยนถุงให้ลูกค้าใส่ของเอง หรือพนักงานกลับทันทีเมื่อถึงเวลาเลิกงานแม้จะมีลูกค้ารอรับบริการอยู่ เป็นต้น

               อย่างไรก็ตาม นายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอร์ซอ เชื่อว่าแม้ชาวโปแลนด์จะเป็นคนยิ้มยากแต่หากได้เข้ามาทำความรู้จักและคลุกคลีแล้วชาวโปแลนด์ก็เป็นเพื่อนได้ไม่ยากนัก

               "ชาวโปแลนด์เป็นคนยิ้มยากเนื่องจากต้องอยู่ในระบอบการปกครองที่เข้มงวดมายาวนาน แต่ชาวโปแลนด์มีความพิเศษกว่าชาติอื่นตรงที่ชาวโปแลนด์ให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัวมาก เห็นได้จากสุสานที่มักจะมีดอกไม้วางอยู่เป็นจำนวนมาก ผมเชื่อว่าชาวโปแลนด์จะเป็นมิตรแท้ได้ไม่ยาก" นายบรรสานกล่าว

                นายบรรสานยังระบุอีกว่า นอกเหนือจากที่โปแลนด์จะสามารถเป็นประตูสู่ยุโรปแล้ว การลงทุนในโปแลนด์ก็เป็นโอกาสที่ดีเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในกรุงวอร์ซอ ยังมีเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือก็จะเป็นคนโปลที่อาจจะจ้างลูกจ้างไทยไปทำงาน ไทยจึงมีความได้เปรียบในด้านนี้ เพราะธุรกิจบริการของโปแลนด์ยังคงต้องพัฒนาอีกมาก

                นอกจากจะสามารถเป็นฐานการลงทุนและกระจายสินค้าไปยังประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ได้แล้ว ตลาดภายในประเทศโปแลนด์ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน ด้วยความที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคง มีกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การส่งออก เงินสนับสนุนของภาครัฐ รวมถึงการบริโภคในประเทศ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้โปแลนด์เป็นอีกตลาดที่น่าสนใจในการลงทุนทำธุรกิจเพื่อนำเม็ดเงินกลับประเทศไทยต่อไป

โดย ชาคร ศิริสุวรรณสิทธิ์