วันที่นำเข้าข้อมูล 8 พ.ค. 2560
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 28 พ.ย. 2565
“เดนมาร์ก” หนึ่งในประเทศผู้ผลิตอาหารชั้นนำของโลก สะท้อนจากศักยภาพในการผลิตอาหารรองรับประชากรมากกว่า 15 ล้านคนต่อปี หรือมากกว่า 3 เท่าของประชากรในประเทศ นอกเหนือจากศักยภาพในแง่ปริมาณ เดนมาร์กยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านอาหารที่ก้าวหน้าเป็นอันดับ 1 ของยุโรป เช่นเดียวกับ สินค้าเกษตรและอาหารที่ขึ้นชื่อในแง่คุณภาพ มาตรฐานปลอดภัย และผลิตจากกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะจากการผลิตแบบเกษตรออแกนิค ซึ่งเดนมาร์กมีความเชี่ยวชาญ ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอาหารออแกนิคสำคัญ และมีสัดส่วนบริโภคสินค้าออแกนิคมากที่สุดในโลก ด้วยศักยภาพดังกล่าว เดนมาร์กจึงนับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีสำหรับไทยที่กำลังพัฒนาประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านอาหารของภูมิภาค
กระทรวงการต่างประเทศในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่ในการชี้ช่อง และขยายโอกาส เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันของไทย ได้ดำเนินโครงการการทูตเชิงเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูนศักยภาพในการแข่งขันแก่ภาคการเกษตร และอาหารของไทย นำภาคส่วนในสาขาเกษตรและอาหาร ทั้งเกษตรกรต้นแบบ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันอาหาร สวทน. กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชน อาทิ ดอยคำ และเกษตรกร Smart farmers ศึกษาต้นแบบการทำเกษตรอินทรีย์ และเกษตรยั่งยืน ที่ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๘ เมษายน ๒๕๖๐
คณะฯ ได้พบหน่วยงานภาครัฐที่สำคัญ ได้แก่ กระทรวงสิ่งแวดล้อมและอาหาร (Ministry of Environment and Food) หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของเดนมาร์ก (Danish Food Cluster) รวมถึงคลัสเตอร์อาหารออแกนิค ซึ่งเป็นอาหารพรีเมี่ยมที่มีศักยภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพื่อศึกษาแนวทางการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าออแกนิคของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นประเทศแรกของโลกที่มีกฎหมายควบคุมมาตรฐานสินค้าออกแกนิคทั้งห่วงโซ่อาหาร และยังเป็นผู้ริเริ่มมาตรฐานรับรองที่เป็นมาตรฐานนานาชาติที่แพร่หลายอยู่ทั่วโลก ตลอดจนการกำหนดนโยบายของรัฐบาลเดนมาร์กในการส่งเสริมการเกษตรแบบออแกนิค อาทิ การสนับสนุนด้านเงินทุนแก่เกษตรกรในช่วงปรับเปลี่ยนสู่เกษตรแบบออแกนิค การออก Organic Action Plans 2020 ที่เน้นการศึกษาวิจัยในเชิงพาณิชย์ การใช้มาตรการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐสำหรับสินค้าออแกนิคอย่างจริงจัง เช่น กำหนดให้อาหารในโรงเรียน สถานเลี้ยงเด็กอ่อนและคนชราต้องทำจากวัตถุดิบออแกนิค ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งนโยบายที่ชัดเจนเหล่านี้ ทำให้เดนมาร์กสามารถผลิตและส่งออกอาหารออแกนิค เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
คณะฯ ยังได้ศึกษาตัวอย่างการทำเกษตรแบบออแกนิค ที่ Marienlyst farm หนึ่งในผู้บุกเบิกเกษตรแบบออแกนิค ที่ผสมผสานการเกษตรด้วยวิธีธรรมชาติ กับการใช้เครื่องจักรเพื่อลดภาระค่าจ้างแรงงาน ซึ่งทำให้ฟาร์มแห่งนี้ สามารถผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศ และส่งออกไปหลายประเทศในยุโรป ภายใต้แนวคิดสำคัญว่า การทำเกษตรกรรมต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค
ในมิติด้านการวิจัยและพัฒนา คณะฯ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากอุทยานวิทยาศาสตร์ “Agro Food Park” สถาบันวิจัย “Danish Technology Institute (DTI)” และ “Danish Centre for Food and Agriculture (Foulum)” ที่เมืองออร์ฮุส เมืองใหญ่อันดับสองของเดนมาร์ก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารเพื่อส่งออกของประเทศ และศูนย์กลางนวัตกรรมเกษตรและอาหาร ที่กำลังพัฒนาสู่การเป็น 1 ใน 5 เมืองนวัตกรรมเกษตรและอาหารของโลกในอีก 3 ปีข้างหน้า เกี่ยวกับแนวทางการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต ภายใต้ความท้าทายด้านต้นทุนการผลิต และพื้นที่เกษตรกรรมที่ลดลง ควบคู่กับการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ การใช้ CT Scan ตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ระบบ Sensor การใช้ GPS ในฟาร์มปศุสัตว์ เทคโนโลยี 3D Printing เพื่ออาหารแห่งอนาคต การเลี้ยงสัตว์แบบออแกนิก และการผลิตแบบ Zero waste นอกจากนี้ ยังได้เห็นแนวทางการเชื่อมโยงความร่วมมือของภาครัฐ-สถาบันการศึกษา-ภาคเอกชน การสร้างระบบนิเวศน์ที่ผสมผสานการทำงานระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็กในลักษณะที่เอื้อกัน เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ต่อการพัฒนาเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของไทยได้
ไม่เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานวิจัย ภาคเอกชนยังเป็นอีกฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของเดนมาร์ก บริษัท Danish Crown ผู้ผลิตและส่งออกเนื้อสัตว์ยักษ์ใหญ่ของโลก เปิดโอกาสให้คณะฯ ได้ศึกษากระบวนการการผลิตเนื้อสัตว์แบบครบวงจรที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตั้งแต่การคำนึงถึงความเป็นอยู่ของสัตว์ระหว่างเลี้ยง สวัสดิภาพสัตว์ก่อนการฆ่า (Animal Welfare) ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร กระบวนการผลิต ไปจนถึงการจัดการของเสีย
นอกจากการศึกษาความก้าวหน้าเพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้แล้ว กระทรวงการต่างประเทศยังได้ร่วมกับกลุ่มเซ็นทรัลจัดกิจกรรมแสดงสินค้า “Thailand Food and Organic Product Showcase in ILLUM”
ณ ห้างสรรพสินค้า ILLUM กรุงโคเปนเฮเกน ภายในงานมีการพบหารือภาคธุรกิจ โดยหน่วยงานของไทยได้รับเชิญให้เข้าร่วมงาน “Food Venture Forum” งานสำคัญ ที่รวบรวมผู้ประกอบการและหน่วยงานพัฒนาด้านอาหาร ในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อสานต่อความร่วมมือ ทั้งในด้านการค้าการลงทุน และความร่วมมือด้านวิชาการในอนาคตระหว่างกัน
ติดตามเพิ่มเติม: http://globthailand.com/thailand_0003/
วันทำการ : จันทร์ - ศุกร์ เวลา 08.30 - 16.30 น.
(ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์)