การเข้าสู่ตลาดยูกันดาของสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรไทย

การเข้าสู่ตลาดยูกันดาของสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรไทย

วันที่นำเข้าข้อมูล 2 พ.ย. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 912 view

 

   ยูกันดา ประเทศทางฝั่งตะวันออกของทวีปแอฟริกาเป็นประเทศที่อาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาของผู้ประกอบการไทยในการทำการค้าการลงทุนมากนัก หากแต่ด้วยปริมาณประชากรกว่า 40 ล้านคน และศักยภาพทางด้านทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รวมทั้งน้ำมันดิบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ยูกันดามีแหล่งน้ำมันดิบปริมาณราว 6,500 ล้าน

 

บาร์เรล แต่ยังไม่ได้ขุดเจาะขึ้นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งยังมีแร่ธาตุสำคัญประกอบไปด้วยทองคำ ทองแดง โคบอลต์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยูกันดายังมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรที่สมบูรณ์ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม

 

          อุตสาหกรรมหลักของประเทศยูกันดา ได้แก่ น้ำตาล สิ่งทอจากฝ้าย และสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ กาแฟ ชา ดอกไม้ พืชสวน โดยที่ผ่านมา รัฐบาลยูกันดาจึงผลักดันการพัฒนาพืชเศรษฐกิจสำหรับการเพาะปลูกและส่งเสริมการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ

 

          ขณะนี้ รัฐบาลยูกันดากำลังจะดำเนินโครงการพัฒนาการเกษตรแบบแบ่งโซนเพาะปลูก ซึ่งยูกันดาได้รับเงินสนับสนุนจากธนาคารโลก มูลค่า 248 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,615 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรทั้งในภาคการเพาะปลูกและภาคปศุสัตว์ให้มีความเข้มแข็ง โดยให้เกษตรกรเป็นผู้ระบุปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกและการปศุสัตว์พร้อมเสนอแนวทางแก้ไข โดยมีรัฐบาลยูกันดาให้การสนับสนุนทุกขั้นตอน โครงการนี้จะครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี โดยปีแรกเป็นโครงการ   นำร่องใน 5 พื้นที่ของประเทศสำหรับพืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพด ข้าวสาร ถั่วชนิดต่าง ๆ มันสำปะหลัง และกาแฟ 

 

          รัฐบาลยูกันดาคาดหวังให้โครงการนี้ยกระดับอัตราการเติบโตภาคการเกษตรเป็นร้อยละ 6 จากเดิมที่ปี 2559 ขยายตัวเพียงร้อยละ 3 โดยจะส่งเสริมความเข้มแข็งของสหกรณ์เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบการจัดซื้ออุปกรณ์การเกษตร ปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตรที่สมาชิกของสหกรณ์ฯ สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้โดยเสียค่าใช้จ่ายในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ รัฐบาลยูกันดายังจะส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการเกษตร ซึ่งจะมี Bank of Uganda สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เกษตรกรในกิจการเพาะปลูก ปศุสัตว์ และการแปรรูปผลผลิต

 

          นโยบายการสนับสนุนด้านการเกษตรอย่างจริงจังของรัฐบาลยูกันดาในครั้งนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรที่ตอบสนองความต้องการของภาคการเกษตร และมีประสิทธิภาพการผลิตในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารของประเทศ เพื่อแก้ปัญหาที่ยูกันดายังขาดความเชี่ยวชาญสำหรับการพัฒนาในด้านการเกษตร จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านการเกษตรที่จะร่วมมือกับยูกันดา รวมทั้งขยายตลาดการส่งออกในกลุ่มสินค้าเครื่องมือทางการเกษตร อาทิ เครื่องจักรสีข้าวขนาดเล็ก อุปกรณ์ทางการเกษตร ปุ๋ย เครื่องมือทางการเกษตรอื่น ๆ 

 

          ยูกันดาเป็นประเทศคู่ค้าของไทย โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2559 มูลค่า 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 420 ล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของไทยที่ส่งออกไปยังยูกันดาได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เป็นต้น ถึงแม้ตัวเลขทางการค้าจะมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่นโยบายส่งเสริมทางการเกษตรที่รัฐบาลยูกันดาผลักดันอยู่นี้ถือเป็นการเปิดโอกาสทองของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมทางการเกษตรของไทยสามารถส่งออกสินค้าเครื่องจักรกลเกษตรได้มากขึ้น ไม่เฉพาะในยูกันดาเท่านั้นที่เริ่มให้ความสำคัญต่อการเกษตรอุตสาหกรรม ประเทศในภูมิภาคแอฟริการอื่นๆ อาทิ ไนจีเรีย เอธิโอเปีย แทนซาเนีย เริ่มใช้นโยบายส่งเสริมการเกษตรที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งผู้ประกอบการไทยไม่ควรรีรอที่จะคว้าโอกาสเหล่านี้ เนื่องจากในปัจจุบันได้มีผู้ประกอบการบริษัทเครื่องจักรกลการเกษตรจากอินเดียและจีนเริ่มเข้าไปดำเนินกิจการค้าขายเครื่องจักรกลเกษตรประเภทต่าง ๆ ในยูกันดาแล้ว

 

ติดตามเพิ่มเติม: http://globthailand.com/uganda_0004/