อีอีซีดีเร่งแผนร่วมทุน เปิดทางกสท ดึงทุนระดับโลกนำร่อง

อีอีซีดีเร่งแผนร่วมทุน เปิดทางกสท ดึงทุนระดับโลกนำร่อง

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 ธ.ค. 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 3,002 view

 

                            

 


                 แหล่งข่าวจากสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(สกรศ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิตอล (ดิจิตอลพาร์ค ไทยแลนด์) หรืออีอีซีดี ว่าทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินงาน จัดทำแผนแม่บทดิจิตอล พาร์ค ไทยแลนด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระหว่างการเร่งดำเนินงานศึกษาแผนธุรกิจ (Business Plan) รูปแบบการลงทุน (Investment Model) และแผนการก่อสร้าง ในพื้นที่ 709 ไร่ บริเวณอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

               โดยมีร่างแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ พื้นที่ส่วนกลาง จำนวน 175 ไร่ (25% ของพื้นที่) พื้นที่ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จำนวน 56 ไร่ (8% ของพื้นที่) และพื้นที่สำหรับนักลงทุน จำนวน 469 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย พื้นที่เพื่อส่งเสริมนวัตกรรม ดิจิตอล (Digital Innovation) จำนวน 211 ไร่ (45% ของพื้นที่) พื้นที่เพื่อธุรกิจดิจิตอล (Digital Services) จำนวน 188 ไร่ (40% ของพื้นที่) และ พื้นที่อาศัย จำนวน 70 ไร่ (14% ของพื้นที่)คาดว่าจะสามารถรองรับประชากรที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ได้ประมาณ 5 หมื่นคนต่อปี และรองรับการพักอาศัยในพื้นที่ได้ประมาณ 8 พันคน


                ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มอบหมายให้บริษัทกสทโทรคมนาคมฯดำเนินการศึกษารูปแบบแผนธุรกิจและรูปแบบ การลงทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ เนื่องจากเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินกิจการโทรคมนาคมและดิจิตอลในพื้นที่ ปัจจุบันมีสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่อาทิ สถานีดาวเทียม สถานีเคเบิลใต้นํ้า ศูนย์ข้อมูลอินเตอร์เน็ตและบ้านพักพนักงาน

                แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ ในการพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมดังกล่าว กระทรวงดิจิทัลฯได้กำหนดกรอบแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ ให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมดิจิตอลของภูมิภาค ตลอดจนเป็นศูนย์กลางของผู้เชี่ยวชาญ ด้านดิจิตอลและวิสาหกิจเทคโนโลยีดิจิตอลเริ่มต้น (Digital Tech Startup) ส่งผลให้พื้นที่ทั้ง 709 ไร่ ถูกออกแบบ ให้เป็นสนามทดสอบทดลองนวัตกรรมดิจิตอลในสภาพแวดล้อมจริง (Living Lab) และเป็นตัวอย่างของเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่สมบูรณ์แบบแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยการบริหารจัดการด้วยระบบอัจฉริยะ ตั้งแต่การจัดการสาธารณูปโภค การจัดการระบบขนส่งการบริหารเมืองระบบรักษาความปลอดภัย และอาคารที่พักอัจฉริยะเพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนในพื้นที่ และประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาใช้บริการระบบ อัจฉริยะภายในพื้นที่ได้

               จากรูปแบบดังกล่าว การดำเนินงาน จำเป็นต้องร่วมลงทุนกับภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ/หรือมีประสบการณ์ด้านการพัฒนา เทคโนโลยีดิจิตอลและระบบอัจฉริยะเพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาห กรรมและนวัตกรรมดิจิตอล ซึ่งเป็นพื้นที่ของภาครัฐที่บริษัท กสทฯ มีแผนที่จะเช่าระยะยาวกับกรมธนารักษ์

                โดยรูปแบบการร่วมลงทุนดังกล่าวจะเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม กระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนในช่วงเดือนมีนาคม 2561นี้และจะสามารถคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในเดือนสิงหาคม 2561 ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับหน่วยงาน พันธมิตร 30 หน่วยงาน และกับนักลงทุนเป้าหมาย6บริษัทเช่น บริษัท Celestica, Microsoft, Mu Space, SYG Holding,Google แล ZTE ไปแล้ว

 

                 อ้างอิง http://www.thansettakij.com/content/240376